เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยสักขีพยาน ประกอบด้วย นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รองศาสตราจารย์ ดร.เพียรพูล กมลจิตร์ประภา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครา ประโยชน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ทั้งนี้จะร่วมกันเดินหน้าศึกษาวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) เพื่อประโยชน์การนำองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลประเทศไทย 4.0
วัตถุประสงค์การลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วย ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ซึ่งประกอบด้วย 4 โมดูล ได้แก่ (1) Digital TTM Knowledge Management เป็นการนำตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทยที่ได้บันทึกไว้ในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก หรือวัสดุอื่นใด เข้าสู่กระบวนการ Digitization และจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ Digital Knowledge based (2) TTM Expert & Recommendation Systems เป็นกระบวนการ Digitalization ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญและระบบช่วยแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายถอด ปริวรรต สังคายนา และสืบค้นตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทย (3) Herbal Product & Service Big Data Management เป็นกระบวนการ Digital Transformation โดยพัฒนา Big data ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณค่า (4) TTM Herbal Product & Service Innovation เป็นกระบวนการ Digital Disruption โดยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้แก่ประชาชน สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ในการนี้มีคณาจารย์และบุคลากรของทั้งสององค์กรเข้าร่วมในพิธี ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.
พัทธนันท์/ข่าว
วุฒิสิทธิ์/ภาพ