เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ รองอธิการบดี ประจำวิทยาเขต มจพ. ระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.อัยยะ จันทรศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และ อาจารย์ ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (หัวหน้าโครงการวิจัย) หนึ่งในเครือข่าย Big Brothers ซึ่งประกอบด้วย 1) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2) สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง 4) วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา 5) บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จํากัด 6) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 7) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จํากัด (มหาชน) 8) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 9) บริษัท อีส เทิร์น ฟลูอิด ทรานสปอรต์ จำกัด 10) บริษัท กลุ่ม เซ็นทรัล จํากัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือ Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เพื่อผลักดันและขยายผลการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม ยกระดับชุมชนให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ศักยภาพด้านการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้าและการตลาด ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานฯ ร่วมกับ ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และ นายปรีดา วัชรเธียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือฯ รองศาสตราจารย์ ดร.อัยยะ จันทรศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือ Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. จากผลงานงานวิจัยและนวัตกรรมของโครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” ได้นำจุลินทรีย์ที่คัดแยกจาก รังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ถ้วยดำในภาคเหนือมาพัฒนาเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก ผสมกับอาหารเสริมหลักที่มีเกสรผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำเปล่า เป็นส่วนประกอบ และมีกากถั่วเหลือง ถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม และโปรตีนสำเร็จรูปเป็นส่วนประกอบเสริมทำให้ผึ้งชันโรง มีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตสูง เพิ่มการสร้างตัวอ่อนในรังและสร้างถ้วยน้ำหวานเพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตและสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ทั้งปีอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงต่อมาอาหารเสริมสำหรับผึ้งชันโรงจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่อื่นของประเทศและมีความต้องการในการต่อยอดขยายผล ผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์มีความต้องการอาหารที่จำเพาะและแตกต่างกัน โดยสูตรอาหารเสริม ดังกล่าวข้างต้น ถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคเหนือโดยจำเพาะสายพันธุ์ถ้วยดำ วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม จึงเห็นความสำคัญของการขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีความต้องการพัฒนาสูตรอาหารใหม่สำหรับผึ้งชันโรงสายพันธุ์ขนเงิน วช. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่พัฒนาสูตรอาหารเสริมตามความจำเพาะของ ผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์อย่างเหมาะสมและยกระดับคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรงให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน ของประเทศและต่างประเทศ วช. ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Big Brother ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้เห็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์โดยความร่วมมือจากเครือข่ายอย่างมุ่งมั่น เพื่อนำหลัก Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ และปีนี้เป็นอีกปีที่ได้ นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรที่เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และนำชุมชนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป โดยตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ“Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า "กลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของ วช. พร้อมหนุนเสริมการขับเคลื่อนประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน ผลงานวิจัยและนวัตกรรมประเด็นผึ้งชันโรง จึงเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ วช. ที่ได้ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ"
ทั้งนี้ จากความร่วมมือของ Big Brothers ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของแบรนด์ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้อย่างมั่นคงและพอเพียง
ฐณปกร/ข่าว
พัทธนันท์/เผยแพร่