วันนี้พาส่องสไตล์ หนุ่ม-สาว นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สัมภาษณ์ exclusive ถึงเคล็ดลับเรียนดี เรียนเก่ง ของน้อง ๆ นักศึกษา ว่าเขาเหล่านั้นมีเทคนิคขั้นเทพเรียนอย่างไรให้ได้เกียรตินิยม อะไรคือจุดประกายและแรงบันดาลใจ ด้วยการพาไปรู้จักกับพี่ ๆ ลูกพระจอมที่เรียนได้เกียรตินิยม ก็วนเวียนมาแซะน้อง ๆ แต่หลายคนอาจสงสัยกันใช่มั้ยล่ะ “ว่าการใช้ชีวิตแบบชิลล์ (Street Style) ในรั้วมหาวิทยาลัยมันง่ายขนาดที่ทำแบบนั้นแล้วยังได้เกียรตินิยมอยู่ คือ ปังมากจริง ๆ" ปลื้มในความเก่งและความมีเสน่ห์ของน้อง ๆ ทุกคนเลยคะ พูดมาขนาดนี้แล้วก็ต้องบอกว่าทำได้สิ ทีนี้มาเข้าสู่เคล็ดลับดี ๆ กันดีกว่าว่าจะเรียนชิลล์ยังไง!!! แต่ยังได้เกียรตินิยม มาเปิดตัวคนแรกกันเลยคะ
1. นางสาวชุติกาญจน์ วุฒาพาณิชย์ ชื่อเล่น “เจน” ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสถิติธุรกิจและการประกันภัย คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ บุคลิกภาพเป็นคนอารมณ์ดี แจ่มใส รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ทุกวันคือการใช้ชีวิตแบบชิลล์ (Street Style) แต่สอบได้เกียรตินิยม อันดับ 1 และยังใช้ชีวิตสบาย ๆ ได้ทุกเรื่องยกเว้นกับการเรียนต้องเอาใจใส่สม่ำเสมอ ทบทวนวิชาที่เรียนมาในแต่ละวัน “เจน” เป็นคนไม่เครียด ค้นหาตัวตน ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองรัก เทคนิคการเรียนหนูก็ไม่มีมาก (หัวเราะ) โดยพื้นฐานคือเข้าเรียนสม่ำเสมอ โน้ตในสมุดตามที่เราเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจส่วนในเนื้อหาก็ควร “ยกมือถาม หรืออาจจะถามอาจารย์ทันที หากเป็นวิชาคำนวณก็จะทำโจทย์ในช่วงเย็นของวันที่เรียนวิชานั้นเพื่อทบทวนวันต่อวัน จะทำให้จำได้ดีกว่ามาอ่านตอนใกล้สอบ” ส่วนวิชาที่เน้นภาษาก็ดูหนัง - ฟังเพลงสากล หากเราพบข้อบกพร่องก็ปรับแก้ไปคะ เคล็ดลับของตัวเองอีกอย่าง เวลาที่ได้ยินเสียงอาจารย์ที่มีน้ำเสียงไพเราะ (ชวนหลับ) คือ ต้องแยกน้ำเสียงกับเนื้อหาที่ผู้สอนกำลังสอนอยู่ให้ออก แล้วเราจะไม่ง่วงค่ะ จริง ๆ ส่วนตัวไม่ได้อ่านหนังสือทุกวัน แต่แบ่งเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบและอยากทำ ส่วนการทำชีท (short note) จะสรุปเนื้อหาในรูปแบบของตัวเองไว้เพื่อที่จะได้มีชีทสรุปไว้อ่านในช่วงใกล้สอบ อย่าเอาแต่เรียนอย่างเดียว ใน มจพ. มีกิจกรรมให้เราค้นหาตัวเองในไปพร้อม ๆ กัน และลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเองชอบและถนัด
2. นายธนพจน์ ลิ่มตั้ง ชื่อเล่น “เอิร์ธ” ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (MA) คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ หนุ่มหน้าตี๋ อารมณ์ดี ดีกรีเกียรตินิยม อันดับ 1 คนนี้ก็ไม่ธรรมดา มีความรับผิดชอบในตัวเองสูงมากขอบอก ด้วยความที่เป็นคนชอบตัวเลขจึงมาเรียนสาขานี้ สมใจจริง ๆ ครับ เพราะเรียนแล้วได้ฝึกการคิดที่เป็นระบบ ใช้หลักการคิดแบบมีเหตุผลมากขึ้น เรียนแล้วมีความสุข ตอบโจทย์ที่สุด ส่วนสไตส์การฟังเพลงของหนุ่ม“เอิร์ธ”บอกว่า “ผมฟังได้ทุกสไสต์ ไม่ได้โปรดแนวใดเป็นพิเศษ” เป็นไงล่ะชิลล์ได้อีกคน
“เอิร์ธ” เล่าว่า เคล็ดลับและเทคนิคการเรียนของผม อย่างแรกต้องเรียนในสิ่งที่เราชอบก่อน ตั้งใจเรียนให้เข้าใจในห้อง กลับมาทบทวนบ้าง ไม่กดดันตัวเองมากไป ถ้าเรื่องไหนไม่เข้าใจให้สอบถามอาจารย์หรือรุ่นพี่ที่ช่วยเหลือเราได้ เพิ่มความรับผิดชอบในตัวเองให้มากขึ้น เพราะมันคือการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนการอ่านหนังสือจะอ่านรอบแรกพร้อมกับเขียนช็อตโน้ต short note ไปด้วย เมื่ออ่านหนังสือรอบสองก็จะอ่านแค่ช็อตโน้ต (short note) คู่กับหนังสือ และการอ่านรอบสุดท้าย “เอิร์ธ” แจงว่าก็จะอ่านที่สรุปเพื่อเช็คว่าเราเข้าใจเนื้อหาไหม เตรียมตัวอ่านหนังสือก่อนสอบประมาณ 1 เดือน โดยผมแบ่งเป็น อ่านและเขียนสรุป 1 รอบ แล้วอ่านทบทวนอีก 1 รอบ รวมถึงมีการติวเพื่อทบทวนความรู้กับเพื่อน ๆ บ้าง
ส่วนตัวผมเมื่อจบการศึกษาไปแล้วอยากไปทำงานด้านวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ วิเคราะห์ข้อมูล และอยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยประกอบอาชีพที่เราชอบคู่กันไปด้วย ผมขอแชร์แบ่งปันเพื่อน ๆ และฝากถึงคนอื่น ๆ ที่สนใจจะมาเรียนต่อที่ มจพ. อยากให้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบหรือเราถนัด แล้วเตรียมตัวศึกษาหาข้อมูลสิ่งที่อยากจะเรียน เมื่อได้เข้ามาก็ต้องปรับตัวในการเรียน เพราะสังคมอาจจะไม่เหมือนกับที่เคยเจอมา เพราะในมหาวิทยาลัยต้องมีความรับผิดชอบมาก ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดี
3. นางสาวธนัญญา พันธ์สุวรรณ ชื่อเล่น “หญิง” จบการศึกษาในปีการศึกษา 2562 (พ.ศ. 2563) จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและการจัดการ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี “หญิง” สาวผู้มีความมุ่งมั่น จริงจัง รู้จักวางแผนอนาคตภายหน้า เป็นตัวของตัวเองชัดเจนคะ มาฟังรุ่นพี่ที่เพิ่งจบไปเร็ว ๆ นี้ เขามีวิธีการอย่างไรบ้าง “เทคนิคการเรียนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันอยู่แล้วค่ะ สำหรับดิฉันคงไม่ได้เรียกว่าเทคนิค เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนก็สามารถทำได้ คือการตั้งใจเรียนในห้อง” สำหรับดิฉันไม่ชอบการสรุป “ชอบการอ่านที่จดจำเป็นหัวข้อไว้ เพราะหากเราเข้าใจเนื้อหาหัวในข้อนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องจำเยอะ ก็สามารถอธิบายได้ค่ะ” เนื่องจากจบวิทยาศาสตร์การอาหารและการจัดการ ทำให้มีตัวเลือกพอสมควรที่จะทำงานในด้านนี้ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร เร็ว ๆ นี้อยากทำงานโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเพิ่มประสบการณ์และคิดว่าจะเรียนต่อด้านเทคโนโลยีอาหารในอนาคต ฝากถึงคนอื่น ๆ ที่กำลังหาที่เรียนและสนใจจะมาเรียนต่อที่ มจพ. เป็นตัวเลือกที่ดีที่จะเข้ามาสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รับโอกาสความก้าวหน้าในอนาคตมากมาย
4. นายสุรเดช ลีรุจิกุล ชื่อเล่น “แอล” จบการศึกษาในปีการศึกษา 2562 (พ.ศ. 2563) สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี “แอล” หนุ่มหน้าตี๋ อารมณ์ดี มีสไสต์ในแบบฉบับของตนเองอีกคน แนว ๆ ของหนุ่มคนนี้บอกว่า เคล็ดลับสำคัญ ๆ คือ “พยายามทำความเข้าใจในโครงสร้างต่าง ๆ ของบทเรียน และเนื้อหานั้น ๆ มากกว่าการท่องจำ โดยเฉพาะการตั้งใจเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก และต้องจดประเด็นสำคัญ ๆ ไว้เพื่อนำมาทบทวนและอ่านแล้วทำความเข้าใจอีกครั้ง” เมื่อใกล้สอบก็นำที่จดไว้แต่ละวิชามาอ่านทบทวนได้ทันที ที่สำคัญคือนำความรู้ที่มีไปติวให้เพื่อน ๆ เพราะหากเราสามารถอธิบายและสอนเพื่อนได้แสดงว่าเราจะเข้าใจจริง ๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่ยากทุกคนทำได้ ผมสนใจงานด้าน IT เป็นพิเศษ “แอล” ขอฝากถึงคนอื่น ๆ ที่สนใจจะมาเรียนต่อที่ มจพ. ต้องเป็นคนที่รักษาและจัดเวลาให้ดี ๆ เพราะการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย มันทำให้เรามีอิสระมากขึ้น การบริหารจัดการเรื่องเวลาจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้วย
5. นางสาวกมลรัตน์ ตระกูลปักษีโรจน์ ชื่อเล่น “กีตาร์” จบการศึกษาในปีการศึกษา 2562 (พ.ศ. 2563) สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี คนนี้แอบลุคหมวย น่ารักครบสูตรที่มากเสน่ห์ ไม่ใช่เพียงหน้าตาแต่สัมผัสได้ถึงความสดใส เธอพกเกียรตินิยมมาตลอด “กีตาร์” เล่าว่า การเรียนของพี่ให้ได้เกียรตินิยมก็คือ “จดจำสิ่งที่เรียนในห้องให้ได้มากที่สุด ทุกคำพูดของอาจารย์คือไกด์ไลน์สำคัญในการทำข้อสอบ” และการหมั่นทบทวนบทเรียนในแต่ละวิชา และการติวให้เพื่อนคือบทบาทสำคัญหนึ่งที่ทำให้เราได้ทบทวนวิชาไปในตัวทำให้จดจำได้ดี งานที่สนใจมากที่สุดคือด้านธุรกิจบริการ ส่วนตัวชอบด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานบริการส่วนหน้าของโรงแรมหรือในสนามบิน ฝากถึงน้อง ๆ สนใจจะมาเรียนต่อที่ มจพ. อันดับแรกคือ การอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้าคณะที่ตนสนใจ เพื่อก้าวสู่อาชีพในอนาคตที่รอน้อง ๆ อยู่ ในความคิดของพี่ “ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยนี่แหละคือช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูก อย่าสนคำสบประมาทของคนอื่น เพราะความฝันอันยิ่งใหญ่ไม่ได้มีไว้ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ” และอย่ากลัวที่จะฝันใหญ่เพราะถ้าคุณตั้งเป้าหมายความฝันไว้สูงสุดก็ขอให้สุด ๆ ไปเลยแล้วเมื่อคุณล้มคุณก็จะล้มอยู่เหนือระดับความสำเร็จของคนอื่น ๆ ขอปรบมือคะ คม จริง ๆ
แต่ละคนต่างก็มีเคล็ดลับในแบบฉบับของตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนก็คือ “ความเข้าใจในบทเรียน” นั้น ๆ นอกเหนือจากการฟังบรรยาย ตั้งคำถาม จากการอ่านล่วงหน้าแล้วอย่าลืมโฟกัสไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นและจดลงไปในสมุดบันทึก พยายามจับใจความสำคัญในสิ่งที่อาจารย์สอน เป็นเด็กเรียนเก่ง เรียนดีแล้ว อย่าลืมแบ่งปันผู้อื่นอยู่เสมอ รู้จัก “ใจเขา ใจเรา” มีน้ำใจต่อกันด้วยนะคะ เช่นเดียวกับการลงมือปฏิบัติแทน “แก้โจทย์ปัญหา และการทำแบบฝึกหัด” อ่านจากช็อตโน้ต (short note) และการหาข้อสอบเก่า ๆ มาทำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ยังมีความรู้อีกมากมายที่เราสามารถหาได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส จากการเซิร์ท 'Google' ท่องโลกออนไลน์ ยุคนี้คือได้หมดก็สดชื่น จริงไหมคะ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณน้อง ๆ ที่ช่วยประสานงานหนุ่ม-สาวคนเก่งให้ ได้แก่ คุณวิลัยพร ขันแก้ว นักประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และคุณศศิกานต์ ศรีคุ้มเก่า นักวิชาการศึกษา คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ