ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รามิล เกศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) เพื่อตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประธาน โดยการพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ให้กับการประปานครหลวง เพื่อใช้ตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประปาได้สำเร็จ แก้ปัญหาการสูญเสียน้ำประปาจากการรั่วของท่อส่งน้ำที่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นดิน ลดงบประมาณ ลดระยะเวลา และลดความเสี่ยงอันตรายจากการใช้กำลังคนในการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบภายในท่อ ซึ่งได้รับงบประมาณจากการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้รับโจทย์จากการประปานครหลวงให้ออกแบบและสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อใช้ตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประปา ซึ่งต้องสามารถขับเคลื่อนผ่านประตูระบายอากาศ (Air Valve) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 มิลลิเมตร และทนแรงดันภายท่อได้ สามารถควบคุมได้จากภาคพื้นดิน พร้อมบันทึกภาพวิดีโอ และเซ็นเซอร์ตรวจจับจุดเสียหายหรือรอยรั่วในท่อ ซึ่งทีมวิจัยได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาออกมาได้สำเร็จ พร้อมส่งมอบให้การประปานครหลวงนำไปใช้งานตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประปาทั่วประเทศ
งานวิจัยที่พัฒนาขึ้นชุดนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
1) ตัวยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) รูปทรงกระบอกขนาด 130 มิลลิเมตร พร้อมใบพัด 5 จุด และเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะเพื่อให้สามารถลอยอยู่กลางท่อประปาได้
2) กล่องควบคุมภาคพื้นดิน (Ground Control) พร้อมจอรับสัญญาณภาพ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติได้
3) สายส่งพลังงานความยาว 200 เมตร
โครงการนี้นับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือกันระหว่าง มจพ. กับ การประปานครหลวง ในการสำรวจรอยแตกรั่วในท่อประปาเพื่อลดความสูญเสียของน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามพัฒนายานมาหลายครั้ง แต่ยังไม่มีตัวไหนที่สามารถเข้าถึงจุดที่ต้องการสำรวจได้ งานวิจัยนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่ มจพ. สามารถพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับได้สำเร็จและเข้าถึงจุดที่ต้องการสำรวจได้จริง โดยได้มีการนำไปทดสอบในพื้นที่จริงมาแล้วคือที่ ถนนเพชรเกษม 35 คลองหนองตระกร้า ลาดกระบัง และพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งประสบความสำเร็จสามารถนำตัวยานเข้าสำรวจถึงจุดที่การประปากำหนดไว้ได้ทุกครั้ง สุดท้ายนี้หัวหน้าทีมวิจัยยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มจพ. และ กปน. มีแผนที่จะร่วมมือกันพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) เพื่อตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประธานรุ่นที่สองในระยะอันใกล้นี้ เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวยานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจากช่วยแก้ปัญหาการส่งน้ำสู่ประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
พัทธนันท์/ข่าว
กาญจนา/ข้อมูล