มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
นักศึกษา มจพ. เก่ง ได้รับทุนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปเรียน ป.โท ที่ประเทศรัสเซีย
News Date28 สิงหาคม 2562
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนการศึกษาแก่นายพรภวิษย์ กาพย์เกิด นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง เป็นผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาระบบพลังงาน (Master of Science in Energy System) ณ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสโกลโกโว (Skolkovo Institute of Science and Technology) ที่กรุงมอสโคว สหพันธรัฐรัสเซีย โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นทุนพระราชทานฯ ที่นักศึกษา มจพ. ได้เป็นหนึ่งในสามคนจากทั่วประเทศที่ได้รับทุนนี้
          นายพรภวิษย์ กาพย์เกิด ชื่อเล่น “เกริก” ปัจจุบันจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จากสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง จบเกียรตินิยมอันดับ 1 “เกริก” เล่าให้ฟังว่า ผมรู้สึกดีใจมากเมื่อรู้ว่าได้ผ่านการคัดเลือกทุนดังกล่าว โดยตนเองมีความสนใจในหลาย ๆ เรื่อง และเห็นว่า “เรื่องพลังงานก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในระดับสากล และทั่วโลกต่างก็กำลังหาหนทางแก้ไขวิกฤตพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”  ซึ่งผมมีความสนใจในเรื่องพลังงานทดแทนเป็นพิเศษเพราะเป็นการผลิตพลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยยังมีศักยภาพ ในการพัฒนาพลังงานประเภทนี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะนำ “ความรู้จากการศึกษาที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสโกลโกโว มาพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย” โดยตอนนี้เขามีแผนที่จะศึกษาเรื่องการประยุกต์ใช้แนวคิดด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อค้นหารูปแบบธุรกิจการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grids  ซึ่งเกริกได้อธิบายว่า ระบบโครงข่ายอัจฉริยะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภค เพื่อจ่ายปริมาณไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว มีผลทำให้ลดความผันผวนในการจ่ายปริมาณไฟฟ้าไปยังผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสนใจในเรื่องระบบโครงข่ายอัจฉริยะมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว
          เมื่อถูกถามถึงเคล็ดลับในการเรียนและอยากให้ช่วยแนะนำน้อง ๆ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้ว่าทำอย่างไรถึงได้เรียนเก่งมากขนาดนี้  “เกริก” เล่าว่าเขาไม่คิดว่าตนเองเป็นคนเรียนเก่งเพราะมีคนอีกมากมายที่เก่งกว่าเขา แต่สิ่งสำคัญคือการสนุกไปกับการเรียนรู้ เพราะความสนุกจะทำให้เราสนใจในเรื่องนั้นมากขึ้น อยากจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมากขึ้น และจะทำให้เราเก่งขึ้นเองโดยอัตโนมัติ คำคมของคนจบเกียรตินิยมอันดับ 1 จริงๆ เหมาะสมกับทุนนี้มาก
          การที่ผมได้รับทุนพระราชทานฯ ครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสาขาที่ผมชอบ ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะและอาจารย์ผู้สอนทำให้ผมประทับใจไม่ผิดหวังเลยที่เลือกที่เรียน ณ มจพ. แห่งนี้  ผมรู้สึกดีใจ ปลาบปลื้มปีติ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผมมาโดยตลอด
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้เกริกประสบความสำเร็จในการเรียนและนำความรู้จากการศึกษามาพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนต่อไป
 
วันนี้ ยังได้พูดคุย กับอาจารย์ธนภณ เจียรณัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ “เกริก” สำหรับผมแล้วเขาเป็นคนที่มี “วิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น ชอบความท้าทาย รักการอ่าน (สำคัญมาก) และมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในสาขาวิชา” ผมสังเกตได้จากการทำโครงงาน (โปรเจ็ค) ในชั้นปีการศึกษาสุดท้าย ซึ่งหัวข้อที่ผมกำหนดให้เขาทำนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยและถือว่ายากสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ เรียกได้ว่าทั้งผมซึ่งเป็นที่ปรึกษาและนักศึกษายังต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่ทำไปพร้อม ๆ กัน แต่เขาก็สามารถทำโครงงานนี้ได้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด โดยมีผลลัพท์เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง  ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ผมจึงมีความคิดว่าจะต้องหาทางแนะนำให้เขาได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นให้ได้ ก็เริ่มตั้งแต่ปรึกษา (เพื่อโน้มน้าว) ผู้ปกครองของนักศึกษา ช่วยหาทุนจากแหล่งต่างๆ จนในที่สุดเขาก็สอบข้อเขียนผ่านเกณฑ์ของทุนได้ถึง 2  แหล่งด้วยกัน (ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่น) ซึ่งเราก็ได้มาปรึกษากันว่าจะเลือกไปศึกษาต่อที่ใดจึงจะเหมาะสมกว่ากันโดยอาศัยพื้นฐานความรู้ประกอบกับการศึกษาว่าอาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะเลือกไปศึกษาต่อมีงานวิจัยอะไรที่ตรงกับพื้นฐานความรู้ของเราบ้าง
          อาจารย์ธนภณ เล่าให้ฟังตรงช็อตเด็ด คือ ช่วงที่เตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ทุนเรา (ผมกับน.ศ.) ก็ได้ช่วยกันร่างข้อเสนองานวิจัย เรื่อง การประยุกต์ใช้แนวคิดโลจิสติกส์และโซ่อุปทานกับรูปแบบธุรกิจพลังงาน
ชีวมวลในประเทศไทยขึ้นมา โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ผมเคยทำให้กับกระทรวงพลังงาน หลังจากร่างข้อเสนอเรียบร้อยแล้ว  ก็ได้มีการซักซ้อมการนำเสนอเพื่อประกอบการสัมภาษณ์ทุน (ซ้อม ๆ แล้วก็ซ้อม)  ภายหลังจากที่สัมภาษณ์แล้ว ได้รับทราบมาว่ากรรมการที่สัมภาษณ์ประทับใจกับการเตรียมตัวของเรามาก เนื่องจากเราได้นำเสนอหัวข้องานวิจัยตั้งแต่การสัมภาษณ์เลย (งานวิจัยถือเป็นหัวใจของการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา)  วินาทีนั้น ผม “รู้เลยว่านักศึกษาคนนี้ต้องได้รับคัดเลือกให้ได้ไปศึกษาต่ออย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศญี่ปุ่นหรือรัสเซีย” ซึ่งผลออกมาก็ไม่ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ มาถึงขั้นสุดท้ายว่าจะเลือกไปที่ใด ผมก็ได้แนะนำไปถ้าเป็นผม ผมจะเลือกทุนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากผมอยากได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งผมได้รับทุนพระราชทาน และที่สำคัญเราจะได้เป็นหนึ่งในสามคนจากทั่วประเทศที่ได้รับทุนนี้ (อีกทุนเป็นของ กพ. ครับ) ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจให้กับเราเองเป็นอย่างมาก
          พูดได้คำเดียวว่าสุดยอดจริง ๆ ทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ จากรั้ว มจพ. เช่นเดียวกับ “เกริก” ที่ประสบความสำเร็จและยินดีมาแชร์เคล็ดลับดี ๆ ในการพิชิตทุนการศึกษา ด้วยเขามีความมุ่งมั่น ทำในสิ่งที่ท้าทาย มีความคิดริเริ่ม ก็ย่อมเป็นผู้ที่ได้ประสบกับสิ่งต่าง ๆ ที่ดีด้วยตนเอง ความสำเร็จมักจะมาพร้อมกับความพยายามและความอดทน ปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้เป็นเครื่องบ่งบอกตัวตนของ “เกริก”  ได้ชัดเจน
 
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ