เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบราง เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ RRTC 2023 จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ร่วมกับศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยระบบขนส่งทางรางไทย (Hub of Talents: Thailand Railway Research Network) และ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ มจพ. จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Rail Research and Technology Conference 2023” หรือ RRTC2023 ภายใต้ธีม “Industry – Academic Linkage” วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านระบบรางที่ตอบโจทย์ความต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ และมี นายโชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. และ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการนำนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้เป็นตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ใน 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ Green & Safe Transport, Transport Efficiency, Inclusivity และ Innovation & Management ซึ่งเป็นกรอบทิศทางในการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราง เชื่อมการเดินทางกับระบบการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้น เพื่อที่จะให้เกิดความสำเร็จด้านการเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ทั้งด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ที่สามารถเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่ผู้ให้บริการ ภาคเอกชน และอุตสาหกรรมการผลิต พร้อมระบบรับรองมาตรฐาน ระบบการทดสอบ และประเมินคุณภาพระบบราง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาคระหว่างภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ
ทั้งนี้มีวิทยากรจาก มจพ. เข้าร่วมในการบรรยาย และมี Keynote Speakers ชั้นนำด้านระบบรางทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงผู้บรรยายเชิงวิชาการ (Panelist & Speaker) ทั้งจากทุกภาคส่วนกว่า 40 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเกิดเป็นเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยด้านระบบรางครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีประเด็นหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น Battery Train, Smart Railway Monitoring, High-Speed Rail Projects, Digital Railway & Transformation, Decarbonization, Railway Testing and Research Facilities, Rolling Stock Components เป็นต้น และผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 350 ท่าน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการขนส่งทางราง ณ ห้องประชุม โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
พัทธนันท์/ข่าว
สมเกษ/ภาพ