รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.รัตนากร ผดุงถิ่น รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต และคณาจารย์ วทอ. ให้การต้อนรับ บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จํากัด โดยคุณเจษฎา กิ่งแก้ว Business development director - Asia คุณพิมพนิจ ขุนทรง HR manager และคุณคนึงนิตย์ เงินสัจจา HRD assistant manager ได้เข้าเยี่ยมชม และเข้าหารือความร่วมมือทางวิชาการ กับวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดย Senior Aerospace มีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานประเภท High precision และ High technology หลากหลายประเภท อาทิเช่น โครงสร้างปีกเครื่องบิน ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ไอพ่น เป็นต้น บริษัทผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ให้ลูกค้าที่ใช้อากาศยานทั้งแบบ Boeing และ Airbus ทั้งนี้บริษัทฯ พร้อมที่จะให้ความสนับสนุน และความร่วมทางวิชาการในหลักสูตรเทคโนโลยีวิศวกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ของวิทยาลัยฯ นอกจากนี้คุณเจษฎา ยังกล่าวเสริมถึงความต้องการของบุคลากรด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศในอนาคตอีกว่า “ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนอีกหลายปี จากข้อมูลการส่งมอบเครื่องบินโดยสารทั้ง Boeing และ Airbus ที่ยังค้างการส่งมอบเครื่องบินที่มีพิสัยการบินระยะใกล้และระยะกลาง รวมกันอีกประมาณเกือบ 3000 ลำ และจะส่งมอบได้ครบต้องใช้ระยะเวลาถึง 15 ปีเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ผลกระทบจากการเกิด Covid 19 อาจกระทบต่อระยะเวลาการส่งมอบให้ช้าลง แต่ไม่กระทบต่อยอดจำหน่ายของอุตสาหกรรมการบินแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทยอยเข้ามาลงทุนใน South East Asia โดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง Senior Aerospace เองก็มีแผนการขยายโรงงาน และยังต้องการแรงงาน วิศวกร ที่สามารถทำงานใน Skills ที่โรงงานต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง” คุณพิมพนิจ กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นของนักศึกษาที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานนี้ว่า “วิศวกรของบริษัทที่ทำงานด้าน Production ต้องสามารถทำงานกับ Digital drawing ได้ ใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปในการ Simulation ทางด้านวิศวกรรมได้ คุ้นเคยกับการใช้งานเครื่องจักรที่ทันสมัย เป็นต้น และที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ
ในการนี้ ผศ.ดร. วรรณลักษณ์ เหล่าทวีทรัพย์ ได้เล่าถึงเนื้อหารายวิชาของหลักสูตรเทคโนโลยีผลิตชิ้นส่วนอากาศยานว่า “หลักสูตรดังกล่าวเริ่มพัฒนาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วภายหลังจากท่านคณบดีฯ เข้าเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต รับนักศึกษาระดับ ปว.ส. เข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี 2 ปี มีการเรียนการสอนทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเข้มข้นด้านการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ในการทำแบบชิ้นงาน และการวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมในการขึ้นรูปเพื่อผลิตชิ้นงาน ทางสาขาวิชามีเครื่องมือเครื่องจักรเดิมที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทันที อย่างไรก็ตามทางวิทยาลัยก็ได้สนับสนุนการจัดซื้อเครื่องจักร CNC 5 แกนเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักศึกษาพร้อมกับการทำงานได้ทันทีเมื่อเข้าสู่การทำงาน”
โดย รศ.ดร. สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้แจ้งให้ทราบว่า “ในปีนี้ เป็นปีที่สองแล้วที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดการเรียนการแบบเสริมทักษะภาษาอังกฤษ กล่าวคือร้อยละ 20 ของวิชาที่สอนในวิทยาลัยจะต้องถูกสอนและวัดผลเป็นภาษอังกฤษ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ กำลังปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่การเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาบุคลการที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจ S-curve ใหม่ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565
พัทธนันท์/ข่าว
ปิติพัฒน์/ภาพ