มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
สัมภาษณ์ นักกีฬายูยิสสู มจพ. จากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 48
News Date16 มีนาคม 2566
นางสาวณีรนุช แหวนเพ็ชร ชื่อเล่น “ป่าน” ชั้นปีที่  4  สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหกรรมและพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. นักกีฬายูยิสสู รางวัลเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47  ศรีสะเกษเกมส์ เหรียญทองชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12  เหรียญทอง SIAM CUP WINTER 2022 ชนะเลิศ เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัย 2 สมัย คือ กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 47 The Sun Games 2020 และล่าสุดคว้าเหรียญทอง ดอกจานบ้านเชียงเกมส์ ตัวแทนประเทศไทยแข่งชิงแชมป์เอเชีย ระดับประเทศเมื่อกุมภาพันธ์ 2566 'ลุคสดใส' ในสไตล์สาวชิค ดูลักษณะภายนอกอาจจะเป็นคนนิ่ง ๆ แต่ถ้าได้ทำความรู้จักแล้วจะรู้ทันว่าป่านพูดเก่ง  สนุกสนาน เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส และชอบความท้าทายเอามาก ๆ
  
“ป่าน” เล่าถึงความชื่นชอบกีฬายูยิสสูว่า เป็นกีฬาและศิลปะป้องกันที่สามารถใช้ได้จริง ๆ ศิลปะการต่อสู้ยูยิตสู ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก การเล่นหรือการแข่งขันนั้นสามารถใช้ทุกองค์ประกอบทั้ง เตะต่อย ทุ่ม ล็อค จับ และหัก มีครบถ้วนทุกกระบวนท่าการป้องกันตัว ตนเองจึงมีความสนใจ โดยเริ่มจากการคิดแค่จะเล่นสนุก ๆ เหมือนการเล่นกีฬาทั่วไป เพราะอยากดูแลสุขภาพแต่พอเล่นไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า “กีฬายูยิตสูก็สามารถเปลี่ยนหลาย ๆ สิ่งในตัวเราให้ดีขึ้น เช่น กระบวนการทางความคิด หรือที่เรียกว่ากรอบความคิด (Mindset) เราเปลี่ยนไป”เพราะการที่เราจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้นเราจะต้องมีกรอบความคิด (Mindset) ที่ดี ซึ่งมันแทบจะเป็นพื้นฐานหลักของนักกีฬาที่ดีเลยก็ว่าได้ ต้องขยัน อดทน ทุ่มเทเสียสละเวลา มีระเบียบตั้งแต่การฝึกซ้อมจนถึงเรื่องการกิน การนอน คือในทุก ๆ วัน อีกเหตุผลที่สนใจกีฬายูยิตสูเพราะเป็นศิลปะป้องกันตัวที่ผู้หญิงสามารถเอาชนะผู้ชายได้ คนตัวเล็กสามารถชนะคนตัวใหญ่ได้ เป็นกีฬาที่ทำให้ได้เรียนรู้ร่างกายของตัวเอง ว่าถึงแม้จะตัวเล็กแต่ก็มีสิทธิ์ชนะคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่าด้วยเทคนิคต่าง ๆ ส่วนตัวจะชอบประเภท Newaza เพราะว่า เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ที่เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ด้วยท่านอน จะเน้นที่การกดล็อกคู่ต่อสู้ การล็อคข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการรัดคอ การหักข้อต่าง ๆ ในทิศทางย้อนกับการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ โดยการใช้แรงกดเพื่อให้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นไม่สามารถต้านทานได้ ตามด้วยการดึงคู่ต่อสู้ลงหรือการทุ่ม หรือ เทคนิค การทุ่มและล็อค  “ป่าน” เริ่มลงแข่งขันเป็นครั้งแรกเมื่อชั้นมัธยมศึกษาชั้นที่ 3 โดยฝึกซ้อม Seif defense กับอาจารย์ Akkalux thippawong  จากนั้นได้แข่งขันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันฝึกซ้อมที่ EMAC : Executive Martial Arts Center  ผู้ฝึกสอน คือ Prof. Niti Techottiasnee Prof. Lee Livingstone Prof. Chinook Auscharanuwat Prof. Ozan Slm ถือได้ว่าแต่ละขอบสนามช่วยเสริมสร้างโอกาสและประสบการณ์ที่ดีมาก
   
ประโยชน์จากการเล่นกีฬายูยิตสู คือ ทำให้มีทักษะการป้องกันตัวเอง สุขภาพร่างกายแข็งแรง ฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา ต้องอยู่ในกฎระเบียบ ต้องรักษาวินัย อันดับแรกเลยคือ เวลาซ้อมก็จะต้องทำให้ดีที่สุด สองคือ ต้องดูแลสภาพร่างกายไม่ให้รับบาดเจ็บ สามคือ เรียนวิศวะก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดี และต้องทำให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน ผิดพลาดอะไรตรงไหนเราต้องแก้ไขในทันที ทำให้ตื่นตัว และสอนให้มีน้ำใจนักกีฬา หากย้อนไปสมัยที่เรียนอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาไฟฟ้ากำลัง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีความสนใจและชอบด้านวิศวกรรม เมื่อมองหาที่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี จึงเลือกสอบที่ มจพ. โดยสอบได้โควต้าความสามารถพิเศษด้านกีฬา  รู้สึกภาคภูมิใจ ดีใจ ปลื้มในตัวเอง และครอบครัวก็ยินดีเป็นที่สุด ที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ  สำหรับการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยไม่ยาก ต้องแบ่งเวลาให้ถูกต้อง  ทั้งการเรียนและฝึกซ้อมกีฬา รู้หน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่ภูมิใจคือการได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย และขอฝากข้อคิดไว้ว่าการแข่งขันกีฬาจะชนะหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ให้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้ทำหน้าที่เต็มที่  มีวินัย จนให้เกิดผลสำเร็จ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองให้กับตนเอง “ป่าน” กล่าวท้ายที่สุด