ภาควิชาการออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง (Department of Construction Design and Management : CDM) สังกัดคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง (Computer-aided Design and Construction Management) ประกอบด้วยหลักสูตรปกติ 4 ปีและหลักสูตรเทียบโอน 2 ปีครึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 แขนง คือแขนงบริหารงานก่อสร้าง (CM) และแขนงคอมพิวเตอร์ช่วยงานสถาปัตยกรรม (CA)
เป้าหมายของหลักสูตรเป็นการผสมผสานศาสตร์ด้านวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อสร้างบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้ใกล้เคียงกับระดับวิชาชีพและสามารถใช้เทคโนโลยีให้ “ทำงานได้ตลอดวงจรของงานก่อสร้าง” การศึกษาจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมก่อสร้างในส่วนงานอาคารเป็นหลัก โดยมีการใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่นงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม งานจัดทำแบบก่อสร้างและแบบจําลองสารสนเทศอาคาร (BIM) งานคำนวณโครงสร้าง งานประมาณราคาก่อสร้าง งานวางแผนการก่อสร้าง รวมถึงงานควบคุมและบริหารโครงการก่อสร้าง
ความรู้และความสามารถของบัณฑิตหลักสูตรคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง
- สามารถประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กับการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและบูรณาการกับการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
- มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะการสื่อสารและการนําเสนออย่างมืออาชีพ มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมพื้นฐาน รวมทั้งมีความซื่อสัตย์และจริยธรรมในการทำงาน
- มีความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ความรู้ทางด้านก่อสร้างร่วมกับการใช้เทคโนโลยี ด้านการสํารวจ ออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา วางแผนงานก่อสร้าง และบริหารงานก่อสร้างได้
- แขนงบริหารงานก่อสร้าง (CM) สามารถประยุกต์ความรู้ทางด้านบริหารงานก่อสร้างและวิศวกรรมโยธา รวมถึงการนําแบบจําลองสารสนเทศอาคาร (BIM) มาร่วมใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านการบริหารงานก่อสร้างที่ทันสมัย เพื่อช่วยวางแผนงานและบริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แขนงคอมพิวเตอร์ช่วยงานสถาปัตยกรรม (CA) สามารถประยุกต์ความรู้ ทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ รวมถึงการนําแบบจําลองสารสนเทศอาคาร (BIM) มาใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบก่อสร้างที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ