มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ผศ.ดร.พีระวัฒน์ คณะครุศาสตร์ฯ
News Date31 ตุลาคม 2561
            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระวัฒน์ นันทวราวงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเครื่องมือและเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมด้วยระบบไทรโบโลยี สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้การต้อนรับ ฯพณฯ ท่าน ดร.พรชัย ด่านวิวัฒน์ เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ นายอัสรอฟ ศาสนกุล เลขานุการโท ได้มาประชุมหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พัฒนาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครั้งแรกที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศแอฟริกาใต้ ตามที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระวัฒน์ นันทวราวงศ์  มจพ. ได้รับทุนวิจัย 2 ปี จากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมการผลิต เรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุโลหะแข็งความแข็งแกร่งสูง ซึ่งเป็นทุนวิจัยด้าน Tribology of Strong Materials ร่วมกับ Prof. Natasha Sacks และ Prof. Ionel Botef แห่งมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ (University of the Witwatersrand) ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้  มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยมีเครื่องมือทันสมัยในการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุในระดับสูงของนครโจฮันเนสเบิร์ก ปัจจุบันทั้งสองมหาวิทยาลัยได้มี MOU ร่วมกันเพื่อขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและด้านวิชาการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการทำวิจัยในระดับสากลของบุคลากรทางการศึกษา และต่อยอดการพัฒนาการเรียนการสอนที่สามารถรองรับระบบการศึกษาระดับสากล ตามแผนการพัฒนาประเทศไทย นั้น
            งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุโลหะแข็งความแข็งแกร่งสูง เน้นการศึกษาและพัฒนาวัสดุความต้านทานการสึกหรอสูงของวัสดุผิวเคลือบความแข็งแกร่งสูงประเภททังสเตนคาร์ไบด์ (Tungsten Carbide-Based Coatings) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การขุดเจาะเหมืองแร่และปิโตรเลียม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการบินและอวกาศ เป็นต้น  งานวิจัยนี้ ปีแรกเป็นการพัฒนาการเคลือบผิวโลหะแข็งด้วยเทคนิคใหม่ ที่เรียกว่า “Supersonic Particle Forming” เป็นกลุ่มแรก ๆ ของโลก ซึ่งการศึกษาผิวเคลือบวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์คอมโพสิตที่เปรียบเทียบธาตุที่เติมระหว่างโคบอลต์และนิกเกิล พบว่าการเติมนิกเกิลทำให้ผิวเคลือบมีความแข็งแรงและต้านทานการสึกหรอสูงกว่าโคบอลต์ที่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จากการวิจัยทำให้มีงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในการประชุมวิชาการและวารสารวิชาการในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus และ ISI อย่างไรก็ตามความแข็งแรงของวัสดุที่พัฒนาขึ้นยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น จึงได้พัฒนาสมบัติของวัสดุให้ดียิ่งขึ้น โดยงานวิจัยต่อเนื่องในปีที่ 2 เป็นความร่วมมือกับ  Dr. A. Miller ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุผิวเคลือบด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ แห่งสถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งชาติแอฟริกาใต้ iThemba Laboratory for Accelerator-Based Sciences  จนประสบผลสำเร็จในการเพิ่มความแข็งแรงได้อย่างยิ่งยวดให้กับวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์คอมโพสิตที่ผลิตได้ในข้างต้น ด้วยเทคนิค “Heavy Metal Ion Implantation” ในการฝังไอออนธาตุโลหะหนัก อาทิเช่น Nb+ และ Ru+  ซึ่งผลการวิจัยพบว่า Nb+ ทำให้สมบัติเชิงกลด้านความแข็งเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทำให้วัสดุคงทนต่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการอุตสาหกรรมการผลิตโลหะแข็ง และวงวิชาการทั่วโลก
            ทั้งยังได้รับการคุ้มครองผลงานการประดิษฐ์และจดสิทธิบัตรเลขที่ WO/2018/167534 เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) อีกด้วย
 

รุ่งนภา/ข่าว