มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
“ตุลา” ผู้มีความสนใจด้านของวิศวกรรมจึงมุ่งสู่โรงเรียนเตรียมวิศวะ มจพ.
News Date30 กันยายน 2562
วันนี้พารู้จักหนุ่มลูกพระจอมสมัยเป็นนักเรียนในโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้มีความสนใจด้านวิศวกรรมศาสตร์  เครื่องยนต์กลไก นายตุลา ชีวชาตรีเกษม ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่  ปีที่ 2  สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา กวาดรางวัลหุ่นยนต์มาจากหลายๆ เวที  อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขัน World Robot Games 2016 (WRG) รายการ SUMO RC 5 KG  รอบนานาชาติ รางวัลชนะเลิศรอบพิเศษ Battle robot 2017  รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2017 รายการ Battle Ball OPEN ระดับประเทศ  รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2562 (TPA Robot 2019)  และรางวัลความคิดสร้างสรรค์  จากการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562
“ตุลา” เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ผมจะเข้ามาศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนตัวแล้วผม “มีความสนใจในด้านวิศวกรรมมาตั้งแต่มัธยมต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องยนต์กลไก หรือกระทั่งประตูเซเว่นผมก็อยากจะรู้ว่ามันทำงานยังไง (หัวเราะ)”  หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้น เลยตั้งใจว่าจะสอบเข้าที่โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ไทย- เยอรมัน ของ มจพ. นี่แหละครับ และก็ได้ตามที่หวังครับ การที่มาเรียนในโรงเรียนเตรียมวิศวะ ได้สัมผัสประสบการณ์มาก และยิ่งมาทำหุ่นยนต์แล้วยิ่งชอบและสนใจในเรื่องของวิศวกรรมมากขึ้น สำหรับผมโรงเรียนเตรียมวิศวะให้ประสบการณ์ที่ดีกับผมมาก ทั้งการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร กลึง กัด ไส ตะไบ เจาะ เจียร ได้ใช้ทุกอย่างในการทำหุ่นยนต์  เช่น วิชาด้านอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานเป็นวิชาเรียนที่เกี่ยวกับวิศวกรรม และมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดี “การมาเรียนที่นับเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตผมเลย” หลังจากอยู่กับการเรียนเตรียมวิศวะมา 3 ปี ผมเลยตัดสินใจว่าจะเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์  เพราะยิ่งผมเรียนรู้ศาสตร์ของวิศวกรรมเท่าไหร่ผมยิ่งสนใจด้านวิศวกรรมมากขึ้นเท่านั้น และได้ยินคำท้าทายจากรุ่นพี่และอาจารย์ ใครๆ ก็บอกว่า  สาขานี้เรียนยากนะ  ยิ่งทำให้ผมยิ่งอยากเรียนต่อในสาขานี้มากขึ้นอีก  แล้วก็....ยากจริงๆ ครับ
(หัวเราะ)
          นอกจากรางวัลด้านหุ่นยนต์ ยังมีรางวัลของกิจกรรมอื่นๆ เช่น เกียรติบัตรผู้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ  จาก มจพ. ปี 2560 การจัดบูทในวัน Open house นำเสนอผลงาน ของนักศึกษาวิศวะ ปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561  และเข้าร่วมการประกวดดนตรีโฟล์คซอง (Folksong) โรงเรียนเตรียมวิศวะ ปี 2561
ความประทับใจในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งผมอยู่ที่นี่มา 5 ปี แล้วรวมปีนี้ด้วย มีเรื่องมากมายที่ผมประทับใจ อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้น แน่นอนในช่วง ปวช. ผมประทับใจเรื่อง เครื่องมือที่พร้อมสำหรับนักศึกษา และอาจารย์ที่เปิดกว้าง (บางคน) สภาพแวดล้อมโรงเรียนที่ดี  มีแหล่งหาความรู้เยอะทั้งหอสมุด และห้องปฏิบัติการ (Lab) ของโรงเรียนเตรียมวิศวะ เรียกได้ว่าสามารถตอบคำถามที่สงสัยได้เกือบทุกคำถาม ในช่วงที่ผมเรียน ปวช. ไม่มีกิจกรรมมากนักแต่ก็ได้รับการปรับให้มีกิจกรรมมากขึ้นหลังจากที่ผมจบการศึกษามา  ส่วนการศึกษาในระดับปริญญาตรี ผมมีความประทับใจมากกับอาจารย์ ผมเจออาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความคิดที่ไม่ล้าหลังคือ “พร้อมจะรับฟังนักศึกษาและยอมรับความคิดนักศึกษาอย่างเท่าเทียม (ในความคิดของผมนะ)” ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่ผมประทับใจมาก แล้วก็ความพร้อมของชมรมหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัย  ผมมองว่าทางมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนอย่างดีกับชมรมหุ่นยนต์ เรียกได้ว่าไม่ขัดสนเรื่องเงินเลยสำหรับการสร้างหุ่นยนต์สักตัว นี่คือความประทับใจหลักที่ผมมี
สำหรับสิ่งที่ผมอยากให้มีเพิ่มคือ จากที่ผมเห็นมหาวิทยาลัยเราเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีที่มีดีด้านหุ่นยนต์แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นจากมหาวิทยาลัยคือ “นวัตกรรม” ที่ใช้งานได้จริง ผมอยากให้มหาวิทยาลัยสนับสุนนการทำวิจัยด้านสิ่งประดิษฐ์ อาจจะก่อตั้งเป็นชมรมนักประดิษฐ์หรืออะไรทำนองนั้นขึ้นมา เพราะจากที่ได้สัมผัสชมรมหุ่นยนต์ของคณะวิศวะแล้ว ผมเลยอยากให้สนับสนุนด้านนี้ด้วยเนื่องจากเรามีบุคลากรที่เก่งและนักศึกษาที่สนใจอยู่บ้าง (อย่างน้อยก็ผม)  สำหรับเพื่อนๆ ที่มีโอกาสได้มาเรียนหรือที่สนใจจะเรียนรู้ “ผมเลยอยากให้มีเงินทุนสนับสนุนในส่วนนี้ เพราะการแข่งขันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราปล่อยให้มันอยู่แค่ในสนามแข่ง”
สุดท้ายผมบอกได้เลยว่า “คิดไม่ผิดที่เลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เป็นลูกพระจอมสมใจ”  น้องๆ คนไหนหากสนใจในเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ มาที่ มจพ. ได้ครบทุกเรื่อง ทั้งแหล่งเรียนรู้มากมายให้เข้าถึง ตั้งแต่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Lab) ชมรมต่าง ๆ ที่มีความสนใจ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (workshop) จนถึงหอสมุดสามารถหาความรู้ได้จุใจกันเลยทีเดียว แล้วก็อยากให้มาทำกิจกรรมแบบนี้เยอะๆ นะครับ ได้ทั้งประสบการณ์  ความรู้ การวางแผนงาน การออกแบบ และสังคมที่ดีด้วยครับ ผมได้อะไรจากการทำหุ่นยนต์มากมายจริงๆ  เพื่อนๆ ที่มีโอกาสอยากมาเรียนคณะวิศวะถ้ามีโอกาสมานะครับ มาลองสัมผัสประสบการณ์ “สร้าง” ที่มีแต่วิศวะเท่านั้นที่จะสามารถทำได้  ไหนๆ ก็มาเรียนวิศวะแล้วจะจบ 4 ปี โดยอยู่แค่ในห้องเรียนหรือ?  ทั้งนี้การเรียนวิศวะยังทำให้เรามีทักษะแนวคิดแบบตรรกะ มีความมุ่งมั่นพยายาม รู้จักการบริหารอย่างเป็นระบบ มีวิธีคิดวางแผน สามารถนำมาประยุกต์ได้ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนให้มีความรู้ความสามารถที่เข้าถึงวิชานั้นด้วย
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ