ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี บทบาทและการทำงานจะเน้นให้บริการด้านการวิจัย และบริการวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร และการบริการวิชาการเชิงบูรณาการกับการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย ฉบับนี้พามาเจาะลึกสัมภาษณ์แบบ exclusive กับอาจารย์ ดร.พนิดา เรณูมาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี เกี่ยวกับทิศทางของศูนย์วิจัยฯ ทั้งเรื่องการจัดหลักสูตรอบรม การให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึงงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร ว่าในปีนี้จะเป็นอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย
อาจารย์ ดร.พนิดา เล่าถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มียุทธศาสตร์การวิจัยที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและบริการวิชาการด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่มีคุณภาพให้แก่สังคม โดยหน้าที่ของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรด้านงานวิจัยที่มีบทบาทต่อบุคลากรและนักวิจัยภายในคณะ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ส่วนกิจกรรมด้านงานบริการวิชาการ มีนโยบายการให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสังคม อย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของคณะฯ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยการดำเนินงานด้านบริการวิชาการของคณะ “จะมุ่งเน้นการจัดบริการวิชาการที่บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมเกษตร” รวมถึงการให้บริการสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการในการผลิต การจัดเก็บ การจัดการโลจิสติกส์ และการตลาด ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดปราจีนบุรี และหรือพื้นที่ใกล้เคียงในภูมิภาค ทั้งนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้จัดทำโครงการปรับปรุง พัฒนา และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ OTOP เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถปรับปรุง แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการบริการวิชาการเชิงบูรณาการกับการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมเกษตร และการวิจัย
กลุ่มเป้าหมายศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร เน้นการให้บริการวิชาการให้แก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้สนใจทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง อีกทั้งศูนย์วิจัยฯ ยังเป็นสื่อกลางในการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร ที่ตอบสนองความต้องการและกระแสความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ โดยเน้นตรงความต้องการของผู้เข้าร่วมอบรม ในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดการอบรมระยะสั้นแนวประกอบอาชีพที่ผู้เข้าอบรมสามารถเลือกหลักสูตรอบรมที่สนใจ เพื่อนำไปใช้ในประกอบอาชีพได้จริง ส่วนค่าใช้จ่ายในการอบรมตามความจำเป็นเหมาะสมกับหลักสูตรแน่นอน นอกจากนี้ศูนย์วิจัยฯ ยังดำเนินโครงการบริการวิชาการในด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี กายภาย และชีวภาพของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ และสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.พนิดา ยังให้ความสำคัญใน “การดำเนินงานทั้งเชิงรับและเชิงรุกในการเข้าถึงปัญหาและความต้องการของผู้ขอรับบริการ โดยเน้นงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร และการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบภายในท้องถิ่น” โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาทักษะด้านงานวิจัยและเพิ่มพูนความรู้ของนักวิจัยได้เต็มศักยภาพ จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการได้อย่างแท้จริง
ทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์ฯ เน้นหนักไปที่กลยุทธ์ที่เป็นเชิงรุกคือ การไปรับโจทย์วิจัยจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น ยิ่งในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ทางศูนย์วิจัยฯ ใช้เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรมการฝึกอบรมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น เว็บไซต์ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร เพจ Facebook และYouTube และมีการจัดทำข้อมูลและเผยแพร่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ ดังแสดงใน QR code ของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางและให้เป็นรู้จักได้ เพราะวิธีที่ดีที่สุดในยุคนี้ต้องใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อในการเป็นช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 เบื้องต้นทางคณะอุตสาหกรรมเกษตรเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัย จึงดำเนินการจัดโครงการบริการวิชาการให้แก่ชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัย ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ในการผลิตสเปรย์แอลกอฮอล์ และเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความปลอดภัย ในการป้องกันตนเองจากโรคระบาดอุบัติใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งชุมชนสามารถนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที ในส่วนของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ศูนย์วิจัยฯ ได้ประชาสัมพันธ์แหล่งทุนวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดังกล่าว ให้กับบุคลากรทุกคนในคณะได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ได้จริงและตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี สามารถตอบโจทย์ให้กับชุมชน ทั้งกิจกรรมการฝึกอบรม ให้บริการวิจัย และบริการวิชาการ ด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดพัฒนา โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาทักษะด้านงานวิจัยและเพิ่มพูนความรู้จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการได้อย่างแท้จริง ซึ่งในปีที่แล้วศูนย์วิจัยฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ ดร.พนิดา กล่าวท้ายที่สุด บุคคลทั่วไปสนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ สามารถใช้บริการติดต่อได้ที่ QR code / Facebook : ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี หรือโทรศัพท์ 037-217300 ต่อ 7938, 7932, 7933, 7934
ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ