วันที่ 27 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์ มีถม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ในพื้นที่อำเภอบางกรวย โดยมี นางสาวรฌทร สงวนพงศ์ นายอำเภอบางกรวย พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นประธานส่งมอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า “ENGY” ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ภายใต้แบรนด์ กฟผ. และได้รับการจดทะเบียนสาธารณะอย่างถูกต้อง จำนวน 51 คัน ให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่บางกรวย พร้อมติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 แห่ง พัฒนาแอปพลิเคชัน “ENGY Rider” หนุนขนส่งสาธารณะสีเขียว ตอบโจทย์ Carbon Neutrality เพื่อทดลองให้บริการประชาชนเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะเพิ่มอีก 50 คัน ในปี 2565 ณ ศูนย์การเรียนรู้ สำนักงานกลาง กฟผ.
โครงการนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับทุนวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อร่วมกันออกแบบระบบแบตเตอรี่มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า ออกแบบ application ในการเรียกใช้บริการ รวมถึงพัฒนา application “ENGY Rider” เพื่ออำนวยความสะดวกการใช้งาน ซึ่งผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบแบตเตอรี่ในสถานีสับเปลี่ยน ระยะทางที่ขับขี่ การมีส่วนร่วมลดคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนผู้ใช้บริการก็สามารถดูข้อมูลผู้ขับขี่หรือเรียกใช้บริการซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ศึกษาข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของผู้ขับขี่การใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่าง ๆ เพื่อศึกษาผลกระทบด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อขยายผลสู่รถรับจ้างสาธารณะทั่วประเทศ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ENGY ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ วิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้มากกว่า 150 กิโลกรัม มีการติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อติดตามตำแหน่งของรถ และระบบควบคุมความปลอดภัย ระบบตัดคันเร่งเมื่อนำขาตั้งลง ทำให้ผู้ขับขี่และผู้รับบริการเกิดความรู้สึกมั่นใจ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ดำเนินการติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) จำนวน 3 แห่ง ซึ่งจะบรรจุแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิด NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) เพื่อรองรับการใช้งานที่ต่อเนื่อง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ศูนย์บริการ ENGY Bike Service Point (ใกล้วัดสำโรง) และชุมชนวัดชลอ
การขยายผลการใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะที่เหมาะสมต่อการนำไปปฏิบัติจริง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง สนับสนุนนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ของ กฟผ. และลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สอดรับนโยบายการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศ และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั่วไปในการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่ได้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงสมรรถนะของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ให้เหมาะสมต่อการใช้งานมากขึ้นในอนาคต
บุกเบิก- ข่าว
รุ่งนภา-เรียบเรียง
สมเกษ-ถ่ายภาพ