มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. จัดงานประกวดเฟ้นหาสุดยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมระดับประเทศ KMUTNB Innovation Awards 2021
News Date17 มิถุนายน 2564
                มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2564 KMUTNB Innovation Awards 2021 ชิงถ้วยพระราชทานรางวัล Grand Prize สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ปรับเวทีสอดรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้สนใจจากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา บริษัทเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 200 กว่าผลงาน
ศ.ดร.สุชาติ  เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ ผ่านเวทีถ่ายทอดสด ที่ https://kmutnb-inno.top/ โดยในปีนี้แบ่งผลงานที่เข้าร่วมประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) Innovative Ideas ค้นหาสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมต่อยอดสู่ผลงานที่ใช้ได้จริง 2) Innovative Products ค้นหาสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษา ตลอดจนนักเรียนและประชาชนทั่วไป มีเวทีได้แสดงออกถึงความรู้  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานประโยชน์ระหว่างผู้ประดิษฐ์และผู้ที่สนใจ ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้
          จากนั้นผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย จากผลงานงานทั้งสิ้น 204 ทีม ได้เริ่มนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ และช่วงบ่ายของวันงานคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาผลงานและประกาศผลการตัดสิน ผลงานที่ได้รับรางวัล Grand Prize พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคัดเลือกจากผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ผลปรากฎว่า ผลงานเรื่อง เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ของ นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Products ได้รับรางวัลดังกล่าวไปครอง  และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Ideas ได้แก่ ผลงานเรื่อง คิด-ดี  ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล
นอกจากรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศแล้ว ยังมีการมอบรางวัลให้แก่รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และชมเชยอีก 3 รางวัลในแต่ละประเภท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 210,000 บาท ซึ่งผู้จัดงานจะจัดพิธีมอบรางวัลอย่างสมเกียรติทันที เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ดีขึ้นแล้ว  ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ชนะและผู้เข้าประกวดทุกทีมต่างก็ได้รับจากการเข้าร่วมงานนี้ก็คือการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้
 
โดยผลรางวัลในแต่ละประเภทมีดังนี้
ประเภท : Innovative Ideas
          รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง  คิด-ดี (KID-D) (ID17) ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ระบบ โฟลว์แบตเตอรี่-
โซล่าเซลล์ ไฮบริไดเซซัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายศักดิ์สิทธิ์ จิตรวุฒิโชติ
นางสาวบุษบา การุณสิต นางสาวกรรณิการ์ อ้นอยู่ นายสุวัจน์ สิกบุตร และ ผศ.ดร.รังสิมา หญีตสอน ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ชุดถังขยะประกอบได้ พร้อมถุง จากบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวพิมพ์ชนก อ่อนมา นางสาวนงลักษณ์ กรุทฤทธิ์ และ นางสาวศิริกาญจน์ สายสมร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
          รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ผลงานเรื่อง  ชุดควบคุมระยะไกล สู้ภัยโควิด 19 ทีมจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย นายดิษยบดินทร์ ขันผนึก นายสุรดิษ พวงสมบัติ นายโชคอนันต์ รันนะโคตร และ รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล  ผลงานเรื่อง  จานใบไม้เคลือบผิวด้วยสารไคตินเพื่อป้องกันเชื้อราและเสริมความแข็งแรง  ทีมจาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดย นายราธา โรจน์รุจิพงศ์ นายผ่านฟ้า เลาหสินนุรักษ์ นายศรัณย์ นวลจีน และ ดร.จันทร์จิรา มณีสาร  และผลงานเรื่อง  ชุดตรวจวัดคอปเปอร์ II ไอออน โดยใช้เซลลูโลสอะซิเตดเป็นวัสดุรองรับ ทีมจาก วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี โดย นางสาวทักษพร เข็มรัมย์ นางสาวจิรัฏฐ์ญาดา บุญกระโทก นางสาวจุฬารัตน์ นนท์นอก นายอภินันท์ วิศุภกาญจน์  นางสาวศิรภัสสร ขบวนงาม นางสาวมุทิตา จวบกระโทก นางสาววนัชพร อ่วมจิ๋ว และ นางสาวเนตรนภา ทอจะโป๊ะ
 
 
ประเภท : Innovative Products
          รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง  เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา โดย นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ  และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่ และเกียรติบัตร
          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง  เครื่องผลิต กรดไฮโปคลอรัส และโซเดียมไฮโปคลอไรท์  ทีมจาก บริษัท โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นางสาวอรวรรณ ศรีตองอ่อน และ นายธนพล หวานสนิท ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง  ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับจากวัสดุฉลาดผลิตด้วยวิธีการสานสำหรับรักษาโรคหลอดเลือด สมองตีบตันระยะเฉียบพลัน ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย นายสรธรณ์ คูชัยยานนท์ นายกณวรรธน์ รัตนพงษ์เพียร นายสุรเชษฐ แก้วอยู่ และ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
          รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ผลงานเรื่อง  ซินไบโอ โทโทล ไรซ์ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นายฐาปกรณ์ ชุมพล และ ผศ.ดร.ศรัณย์ พรหมสาย ผลงานเรื่อง  ระบบวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกผลไม้เศรษฐกิจ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายนรเศรษฐ์ ไผ่ผาด และ ดร.วัชรีวรรณ จิตต์สกุล  และผลงานเรื่อง  เยลลี่พร้อมดื่มจากน้ำหยวกกล้วยน้ำว้าเสริมเส้นใยสับปะรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นางสาวนิราภรณ์ โลนุช นางสาวสุธิดา บัวคีรี และผศ.ดร.ศรีเวียง ฤทธิศักดิ์
 
เยี่ยมชมบูธผลงาน เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/167?back=%2Finvention%2F4
เยี่ยมชมบูธผลงาน คิด-ดี
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/110?back=%2Finnovative-ideas%2F4
ชมบันทึกการถ่ายทอดสดได้ที่ 
🎥 https://youtu.be/K_-dTqWnECU
🎥 https://www.facebook.com/KMUTNBINNO