มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. ร่วมประชุมภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) ขับเคลื่อนโครงการเทคโนโลยีอวกาศ
News Date23 ธันวาคม 2563
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าร่วมภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานแผนการดำเนินการภายใต้ภาคีเครือข่าย ในการประชุมดังกล่าว ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้รายงานแนวทางการดำเนินโครงการอวกาศในภาพรวม และในโอกาสนี้ ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ได้รายงานประสบการณ์และศักยภาพของ มจพ. ในการสร้างดาวเทียมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดโครงการอวกาศของประเทศ โดยมี ดร. พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มจพ. เข้าร่วมประชุมด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีประสบการณ์ในการสร้างดาวเทียม knacksat (KMUTNB Academic Challenge of Knowledge Satellite) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่สร้างขึ้นโดยคณาจารย์และนักศึกษา นับเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างโดยคนไทย ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในเดือนธันวาคม 2561 โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) สถาบันเทคโนโลยีกิวชิว (Kyushu Institute of Technology) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้อุทยานเทคโนโลยี มจพ. เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการอวกาศภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของมหาวิทยาลัยซึ่งมุ่งให้ มจพ. ก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอวกาศ
โครงการภาคีความร่วมมือเทคโนโลยีอวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีระดับความพร้อมทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง วัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของหน่วยงานงานภายในประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (next new S-curve) ของประเทศ พร้อมกับสร้าง eco-system ที่เหมาะสมและยั่งยืน นับเป็นความภาคภูมิใจที่ มจพ. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับประเทศในครั้งนี้
พัทธนันท์/ข่าว
พิชญา/ข้อมูล