มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ลงนามความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่าง มจพ. กับสถาบันวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง มหาวิทยาลัยลอแรน ประเทศฝรั่งเศส สู่ปีที่ 20 ในความสำเร็จที่ยั่งยืน
News Date17 กันยายน 2562
มหาวิทยาลัยลอแรน (University of Lorraine-UL) ประเทศฝรั่งเศส โดย Prof. Dr. Noureddine Takorabet ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย GREEN (Groupe de Recherche en Energie Electrique de Nancy) ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่าง มจพ. กับมหาวิทยาลัยลอแรน ในโอกาศครบ 20 ปี ของความร่วมมือ ซึ่งประกอบด้วย ผศ. ดร. พนาฤทธิ์ เศรษฐกุล อดีตผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส และอดีตหัวหน้าทีมนักวิจัยฝ่ายไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณบดีด้านวิชาการและกิจการต่างประเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ผศ. ดร. วัฒนา แก้วมณี ผู้อำนวยการ และ ดร. สุกาญจนา เลขพัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส พร้อมด้วย รศ. ดร. เมธีพจน์ พัฒนศักดิ์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน (English program-Dual degree) ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยลอแรน ซึ่งประกอบด้วย Prof. Dr. Karl Tombre รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ Mrs. Nathalie Fick, Head of International Office, International and European Department, Prof. Dr. Noureddine Takorabet ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยอาจารย์และนักวิจัยศูนย์วิจัย GREEN โดยมี Prof. Dr. Bernard Davat อดีตผู้บริหาร ENSEM, GREEN และอดีตหัวหน้าทีมนักวิจัยฝ่ายฝรั่งเศส และ ผศ. ดร. พนาฤทธิ์ เศรษฐกุล อดีตหัวหน้าทีมนักวิจัยฝ่ายไทย ร่วมกันนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือจากอดีตถึงปัจจุบัน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ประวัติโดยย่อของ Nancy-Université ดั้งเดิมก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1572 (พ.ศ. 2115) ใกล้เมือง Pont-à-Mousson โดย Charles III, Duke of Lorraine และ Charles, Cardinal of Lorraine หลังจากนั้นได้ย้ายไปยังเมือง Nancy ในปี ค.ศ. 1768 แต่ถูกปิดลงเนื่องจากการปฏิวัติในปี ค.ศ.1793 และเปิดใหม่ในปี ค.ศ. 1864 โดยใช้ชื่อ Nancy-Université ประกอบด้วย Henri Poincaré University, Nancy 2 University และ Institut National Polytechnique de Lorraine และในปี ค.ศ. 2012 ได้รวม Paul Verlaine University เข้ามาจึงมีการปรับโครงสร้างใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยลอแรน (University of Lorraine-UL) โดยมีสถานที่ตั้งทั้งหมด 54 แห่ง กระจายอยู่ในแคว้นลอแรน จากข้อเท็จจริงและตัวเลขที่สำคัญในปี ค.ศ. 2018 มหาวิทยาลัยลอแรน มีนักศึกษามากกว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติจำนวน 10,455 คน และยังมีผู้เข้าเรียนหรือฝึกงานในระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) จำนวน 12,719 คน มหาวิทยาลัยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจำนวน 6,900 คน ซึ่งเป็นอาจารย์ 3,900 คน นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังได้ให้ความสำคัญกับแหล่งข้อมูลทางวิชาการและวิจัย โดยจัดให้มีห้องสมุดและศูนย์เอกสารทั้งหมดที่กระจายอยู่ในแคว้นลอแรนจำนวน 60 แห่ง ในปัจุจบัน วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยคือ “Lorraine University of Excellence” โดยมี 15 โครงการ ที่ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีศูนย์วิจัยจำนวน 60 ศูนย์ ใน 10 สาขาวิชา ซึ่งในปี ค.ศ. 2018 มหาวิทยาลัยมีผลงานทางวิชาการและวิจัยที่สำคัญดังนี้ 1) สิทธิบัตรใหม่จำนวน 15 เรื่อง 2) สัญญาการวิจัยใหม่จำนวน 424 สัญญา และ 3) ผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่จำนวน 3,509 เรื่อง โดยมหาวิทยาลัยมีงบประมาณรวม 630 ล้านยูโร
จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่ได้ลงนามไว้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ระหว่าง รศ. ดร.บรรเลง ศรนิล อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับ Prof. Maurice Martin รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง ณ ลอแรน (Institute National Polytechnique de Lorraine-INPL) ในขณะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และพลังงาน ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส โดยมี Prof. Dr. Bernard Davat เป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยฝ่ายฝรั่งเศส (GREEN, INPL) และ ผศ. ดร. พนาฤทธิ์ เศรษฐกุล เป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยฝ่ายไทย (TFIC, KMITNB) ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นด้วยการพัฒนาบุคลากร ผ่านทางโครงการความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิจัยไทย-ฝรั่งเศส (Thai-French Higher Education and Research Cooperation Project) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและรัฐบาลฝรั่งเศสโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสถาบันการศึกษา โดยผ่านทางกิจกรรมการฝึกอบรม การวิจัย การสนับสนุนทุนการศึกษา รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน (Cost-sharing) ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานทดแทน (Renewable Energy Research Center-RERC) ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 โดยมี ศ. ดร. ปฏิพัทธ์ ทวนทอง เป็นหัวหน้าศูนย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโครงการต่อเนื่องเพื่อขยายความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ และในปี พ.ศ. 2551 ศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนได้รับการยอมรับให้เป็นพันธมิตรการวิจัย (Research partner) ของสถาบันวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง ณ ลอแรน ประเทศฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้แล้วยังได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานโครงการ TFIC’s Excellence Scholarship Program ในปี พ.ศ. 2551 เพื่อพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอกต่อเนื่อง และในปี พ.ศ 2558 ได้เปิดหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน (English program-Dual degree) สังกัดภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยลอแรน
ผลการดำเนินงานความร่วมมือได้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน โดยมี 1) ผลผลิต (Output) ที่สำคัญดังนี้ 1.1) อาจารย์ มจพ. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 8 คน 1.2) อาจารย์และนักวิจัย มจพ. เดินทางไปทำวิจัยจำนวน 16 ครั้ง 1.3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการอบรมและสัมนาที่ มจพ. โดยอาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอแรน จำนวน 47 ครั้ง 1.4) มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ (ค.ศ. 2005-2019) จำนวน 187 เรื่อง โดยจำแนกออกเป็น 1.4.1) ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร (Journal) ในฐานข้อมูล Web of Science (WoS) จำนวน 38 เรื่อง เช่น ใน IEEE Transaction และ Journal of Power Sources เป็นต้น และมีการอ้างอิง (Citations) มากกว่า 1600 ครั้ง 1.4.2) ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการประชุมวิชาการ (Conference proceeding) ในฐานข้อมูล WoS จำนวน 60 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานประชุมวิชาการที่จัดโดย IEEE และมี 2) ผลลัพธ์ (Outcome) ดังนี้ 2.1) จัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานทดแทน (RERC) ที่ มจพ. เพื่อวิจัยและพัฒนาด้าน 2.1.1) แหล่งพลังงานทดแทน เช่น เซลล์เชื้อเพลิง (PEMFC) เซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม 2.1.2) อุปกรณ์เก็บสะสมพลังงาน เช่น ซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ ลิเทียม-ไอออนแบตเตอรี่ 2.1.3) อินเวอร์เตอร์และระบบควบคุมในรถไฟฟ้า (EV) 2.1.4) ระบบควบคุมและส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าที่มาจากหลายแหล่งจ่าย ที่มีโหลดหลายประเภท (Multi-sources, Multi-loads distributed system) เป็นต้น ปัจจุบันได้รับอนุมัติจากให้จัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางประเภทนอกที่ตั้ง นอกจากนั้น 2.2) พัฒนาหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน (English program-Dual degree) สังกัดภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยลอแรน ณ ปัจจุบันมีนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวนี้ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยลอแรนแล้วจำนวน 2 คน โดยใช้ศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนเป็นห้องปฏิบัติการในการทำวิจัยร่วมกัน (Joint labs/Inter-labs) และ 3) ผลกระทบ (Impact) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมจากมหาวิทยาลัยลอแรน ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมมหาวิทยาลัยสหภาพยุโรป (EUA, EUF) ที่มีนโยบาย “เปิดกว้างสู่โลกใบนี้” (Wide open to the world) นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยลอแรนยังมีนโยบายสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic partnerships) กับมหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจคล้ายกันดังเช่นความร่วมมือกับ มจพ. ในระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา ได้แก่ 3.1) ใช้ห้องปฏิบัติการร่วมกัน (Joint labs/Inter-labs) ทำวิจัยร่วมกัน (Joint research projects) ให้ปริญญาเอกร่วมกัน (Joint PhD) และการเผยแพร่ผลงานร่วมกัน (Joint  publications) นอกจากนั้น 3.2) สนับสนุนให้อาจารย์ มจพ. ทำวิทยานิพนธ์หลังปริญญาเอก (Habilitation thesis) ซึ่งเป็นคุณวุฒิหลังปริญญาเอก (Post-doctoral qualification) เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยลอแรนที่สามารถสอนและรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกได้
ศิริพร/ข่าว
พัทธนันท์/Upload