มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ศูนย์สะเต็มศึกษา มจพ. เดินหน้าส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ ทางด้านการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษา
News Date02 ตุลาคม 2562
รศ.สุพร  รัตนพันธ์  หัวหน้าศูนย์สะเต็มศึกษา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  เปิดเผยว่า นับตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ในระยะแรกใช้สถานที่ชั้น 9 อาคาร 96 คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและทำกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์สะเต็มศึกษา ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562 ได้มีพิธีเปิดศูนย์สะเต็มศึกษาอย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 5 อาคาร 97 โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน เป็นสถานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและทำกิจกรรมต่างๆ ศูนย์สะเต็มศึกษาเดินหน้าดำเนินโครงการต่างๆ มาตลอดทั้ง 3 ปี เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษา การผลิตสื่อต้นแบบ การพัฒนานวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ การฝึกอบรมครู นักเรียน นักศึกษาให้กับสถานศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยและยังสามารถขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่นๆ นอกเครือข่าย เพื่อช่วยพัฒนาครูให้เป็นวิทยากรที่สามารถถ่ายทอดการเรียนรู้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ STEM ให้กับบุคลากรและนักเรียนในสถานศึกษาของตนเองได้ เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21  
“รศ.สุพร” เล่าให้ฟังถึงที่มาของ ศูนย์สะเต็มศึกษา มจพ. ว่ามหาวิทยาลัยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม โรงเรียนสตรีนนทบุรี โรงเรียนวิมุตยารามพิทยากร โรงเรียนวัดวิมุตยาราม โรงเรียนกลาโหมอุทิศ โรงเรียนลานนาบุญ โรงเรียนวัดมัชฌันติการาม ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี  วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระราม 6 และวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี การดำเนินงานของศูนย์ฯ ในช่วง 2 ปีแรก จะมุ่งเน้นการผลิตสื่อต้นแบบ สร้างชุดอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้แบบ STEM ที่เน้นหุ่นยนต์และอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT)      ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาในหลักสูตรแกนกลางของนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีวศึกษาที่สามารถอธิบายให้เห็นการบูรณาการความรู้ทั้ง 4 ศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนในการอบรมครู นักเรียน นักศึกษา ของสถานศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย รวมทั้งนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอมัน
ตลอดระยะเวลา 3 ปี (2560-2562) ที่ผ่านมา ศูนย์สะเต็มศึกษาได้ดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษาทั้ง 12 แห่ง โครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วมี จำนวน 23 โครงการ มีทั้งโครงการผลิตสื่อต้นแบบและโครงการจัดอบรมครู นักเรียน นักศึกษา ของสถานศึกษาในเครือข่าย และนักศึกษาของ มจพ. ได้จัดอบรมไปแล้ว จำนวน 36 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมแล้วจำนวนทั้งสิ้น  1,194 คน     ในการจัดอบรมแต่ละครั้งจะจำกัดผู้เข้าอบรมไม่เกิน 40 คน เพราะต้องการเน้นคุณภาพเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง
ตัวอย่างโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ
1. โครงการสร้างต้นแบบ STEM Robotics สำหรับนักเรียนแต่ละช่วงชั้น
2. โครงการนวัตกรรมการเรียนรู้ วิทย์-คณิต คิดผ่านหุ่นยนต์ ตอน : Integrated STEM Robotics and Coding
3. โครงการอบรมครู STEM Robotics ในยุค THAILAND 4.0
4. โครงการผลิตบอร์ดการเรียนรู้ระบบสมองกลฝังตัวและอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งสำหรับการเรียนการสอนแบบ STEM ในสายวิทยาการคำนวณสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 และ 3
5. โครงการสร้างต้นแบบเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อการเรียนรู้แบบ STEM
6. โครงการอบรมครูและสร้างต้นแบบโครงงานวิชาวิทยาการคำนวณ
7. โครงการ : ชุดทดลองสะเต็ม : ปฏิบัติการเคมีสีเขียว
8. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการและการประลอง หุ่นยนต์สะเต็มและการเขียนโปรแกรมควบคุม ตอน:
 เมืองอัจฉริยะเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ข้างต้น ศูนย์สะเต็มศึกษาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก
อาจารย์คณะต่างๆ หลายท่าน ได้แก่  รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ผศ.ดร. สิริชัย จันทร์นิ่ม ผศ.ดร.ชูชาติ สีเทา ผศ.ดร.ศิริศาส เอื้อใจ รศ.ดร.นพวรรณ ชนัญพานิช อาจารย์ ดร.ศิฬาณี นุชิตประสิทธิ์ชัย และยังมีอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกที่ร่วมเป็นทีมงาน
ผลงานที่โดดเด่นของศูนย์สะเต็มศึกษาของ มจพ. คือโครงการสร้างต้นแบบ STEM Robotics
สำหรับนักเรียนแต่ละช่วงชั้น โครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากครูและนักเรียนของสถานศึกษาในเครือข่ายและสถานศึกษาอื่นๆ เป็นโครงการที่สามารถพัฒนาสื่อต้นแบบต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากโครงการนี้แล้วก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น โครงการ : ชุดทดลองสะเต็ม : ปฏิบัติการเคมีสีเขียว โครงการนี้ได้สร้างชุดทดลองขึ้นจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่หาได้ง่ายมีราคาไม่แพง ครูสามารถนำไปขยายผลใช้สอนนักเรียนในห้องเรียนได้เลยโดยที่โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีห้องทดลอง
โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ศูนย์สะเต็มศึกษาได้ดำเนินการมาแล้วตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากสถานศึกษาที่มีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและสถานศึกษาอื่นๆ นับว่าเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง ศูนย์ฯ ได้กำหนดรูปแบบและแนวทางในการขยายผลไปยังสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังสามารถใช้ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเพื่อเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมโยงกับสถานศึกษาทั่วไประดับต่ำกว่าอุดมศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินโครงการต่างๆ ในแต่ละปีนั้น ทางศูนย์สะเต็มศึกษาได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณเงินรายได้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัย นอกจากนี้      ศูนย์สะเต็มศึกษายังได้รับเงินบริจาค จากบริษัทพัฒน์กล จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหา ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือเพื่อการศึกษาบางส่วน
นอกจากนี้ศูนย์สะเต็มศึกษายังได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย หลักสูตร : การพัฒนาระบบการเรียนการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษาสำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ประเภทหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) อีกด้วย
โครงการนี้ดำเนินงานโดย ผศ.ดร.ชูชาติ สีเทา และทีมงาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการฝึกอบรมนักศึกษาอาชีวะ รุ่นที่ 1 จำนวน 30 คน หลังจากฝึกอบรมเสร็จแล้วจะส่งนักศึกษาอาชีวะกลุ่มนี้เข้าฝึกปฏิบัติงานจริงตามสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต่อไป
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์สะเต็มศึกษา ห้อง 903 ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือโทรศัพท์ 0-2555-2291,0-2555-2236
 
ขวัญฤทัย ข่าว/บุกเบิก ถ่ายภาพ