หากพูดถึงการเลือกเรียนสายอาชีวะยังเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งที่ในปัจจุบันได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว และเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการพัฒนาแรงงานฝีมือเข้าสู่ตลาด เพราะแรงงานคุณภาพถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐฯ และเอกชนออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมเร่งพัฒนาการศึกษาสายอาชีพมากขึ้น และยังเป็นการสร้างแรงงานฝีมือสายอาชีวะโดยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนทุกมิติพร้อมนวัตกรรม และด้วยหลักสูตรของการเรียนอาชีวะสามารถหางานทำได้ตรงกับสิ่งที่เรียนมา นั้นก็คือเมื่อเรียนจบมาสามารถที่จะหางานทำให้ตรงกับสายที่ตัวเองเรียนมาได้ในทันที เป็นข้อดีที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดสำหรับคนที่เลือกเรียนสายอาชีวะ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบที่นักเรียนอาชีวะมีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เพราะการเลือกเรียนในสายอาชีพยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและรองรับการจ้างงานด้วย เช่นเดียวกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดให้มีการฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะให้ครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว จำนวน 15 หลักสูตร ในระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2561 จำนวนรวมประมาณ 175 คน สื่บเนื่องจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีแผนงานการจัดฝึกอบรมให้กับครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว โดยคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ดังนี้ 1. โรงเรียนเทคนิควิชาชีพสะหวันนะเขต 2. โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงบ่อแก้ว 3. วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพแขวงคำม่วน 4. วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสัก 5. วิทยาลัยเทคนิคลาว – เยอรมัน 6. วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพมิตรภาพเวียงจันทน์-ฮานอย 7. วิทยาลัยเทคนิคสรรพวิชา และ 8. วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว 2 ท่าน มาพูดคุยถึงประเด็นที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะ ที่ มจพ. เริ่มจากคนแรกกันค่ะ
นายสีพอน สิบุนเฮือง ครูผู้สอนจากวิทยาลัยเทคนิคลาว – เยอรมัน และสอนวิชาช่างไฟฟ้า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะให้ครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว ประจำปี 2561 เล่าให้ฟังว่า เมื่อก้าวสู่รั้ว มจพ. รู้สึกดีใจ ปลื้มใจ และภาคภูมิใจมากที่ได้เข้ามาฝึกอบรมที่ มจพ. เพราะในส่วนตัวผมเคยได้ยินชื่อเสียงของ มจพ. มานาน แต่เมื่อมาเห็นกับตา และได้มาสัมผัสผมบอกได้เลยว่า มจพ. ใหญ่โตมาก บรรยากาศน่าเรียน
สิ่งที่ได้รับจากการฝึกอบรมมีมุมมอง มีแนวคิด และได้เรียนรู้ถึงเทคนิควิธีการสอนวิชาเฉพาะ เช่น การจัดลำดับหัวข้อที่จะสอน การออกแบบตำราในสาขาวิชาที่เราสอนได้เลย นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมที่ มจพ. เพราะการที่ได้มาฝึกอบรมครั้งนี้ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ไม่เข้าใจ ที่ขาดหายไป ได้เทคนิควิธีการสอน การออกแบบตำราเชิงสร้างสรรค์แก่ผู้เรียนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเทคนิคเดิมๆ ที่ใช้สอนที่ สปป. ลาว เพราะเป้าหมายในการมาฝึกอบรมของครูอาชีวศึกษา สปป.ลาว ก็ต้องการให้มีความสามารถทางวิชาเฉพาะสาขา และที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาการสอนในสถานศึกษาต้นสังกัดของผู้เข้าฝึกอบรมได้ ในระหว่างฝึกอบรมตลอดหลักสูตรได้รับความเมตตาจากคณาจารย์ทุกท่าน ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ ดูแลเอาใจใส่ทุกๆ อย่างดีมาก สีพอน กล่าวท้ายที่สุด
นางสาวจันสุดา พอราสิม วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทร์ เป็นครูสอนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะให้ครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว ประจำปี 2561 อีกคน โดยกล่าวว่า การได้รับคัดเลือกเข้ามาฝึกอบรมการสอนวิชาชีพและการฝึกวิชาชีพเฉพาะสาขาที่ตนได้สอนระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นั้น ประทับใจในเทคนิคการสอน การถ่ายทอดของคณาจารย์ที่ มจพ. ได้เรียนรู้เทคนิค วิธีการทำสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบทเรียน อีเลินนิ่ง (e-learning) การสร้างฐานข้อมูล ตลอดจนการสร้างหลักสูตรจากบทเรียน ด้วยตนเองเป็นครูผู้สอนด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำให้สนใจความก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ อย่างเช่น อีเลินนิ่ง (e-learning) เนื่องจากการเรียนการสอนในปัจจุบันจะมีกระบวนการการเรียนการสอนที่แตกกันไป เช่น การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction) การเรียนการสอนออนไลน์ (On-line Learning) การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet-based Instruction) เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบบจัดเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น
การที่ครูผู้สอนได้ฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะให้ครูผู้สอน/ครูฝึกสายอาชีวศึกษาอาชีวศึกษา สปป.ลาว ทำให้ตนเองได้เรียนรู้เทคนิควิธีการสอนวิชาเฉพาะ การนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาการสอนในชั้นเรียน ทั้งนี้ตนเองจะนำไปต่อยอด อีเลินนิ่ง (e-learning) หรือ ด้านมีเดีย (Media) พร้อมถ่ายทอดและพัฒนาตนเองด้วย
ทั้งนี้ สปป.ลาว ให้ความสำคัญการจัดการศึกษาอาชีวศึกษามาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตาม “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ” (Nation Qualifications Framework - NQF) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดให้มีการวัดมาตรฐานฝีมือแรงงานและสามารถให้การรับรองแล้วใน 27 สาขาอาชีพ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างมาตรฐานแรงงานเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต
ขวัญฤทัย ข่าว/ประจักษ์เวช ถ่ายภาพ