มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
สัมภาษณ์พิเศษ “การะเกศ” เพชร มจพ. ปี’66 กับรางวัล “นักศึกษา มจพ. ดีเด่น ระดับคณะ”
News Date09 พฤษภาคม 2567
  นางสาวอรอนงค์  นายออน ชื่อเล่น “การะเกศ” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรเทียบโอน) สาขาวิชาการบริหารอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ (BMS) คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ระดับปริญญาตรีบริหารธุรกิจ (BID) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้วย ลุคคนพูดน้อย แต่ยิ้มง่าย อารมณ์ดี ใจเย็น เป็นผู้ฟังและยิ้มตามทุกครั้ง  ชอบความสงบเงียบ ชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่วุ่นวาย จะค่อนข้างเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง มีความสุขกับการอยู่คนเดียว เรียกว่า Introvert ก็ได้  ถ้าเป็นเพื่อนสนิท เป็นคนรู้จักกันก็จะรู้ว่าเป็นคนตลก เข้ากับคนง่าย ไม่ได้มีกำแพงปิดกั้นตนเอง มองโลกแง่บวกเสมอ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร ก็ยิ้มสู้ไว้ก่อน  มีผลการเรียนดี และประวัติที่น่าสนใจ ได้รับทุน“นักศึกษาทุนบุญรอด พัฒนานิสิต นักศึกษา  ได้รับรางวัล Best Group Presentation จากโครงการ Asian Virtual Youth Mobility Program 2023   รางวัลชนะเลิศโดยนำเสนอผลงานแอพ “Sold out”  เป็นนวัตกรรมแอพลิเคชั่นจัดการคลังสินค้า  และการประเมิน “เพชร มจพ.”ปี 2566  ได้รับรางวัล “นักศึกษา มจพ. ดีเด่น ระดับคณะ” ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมค่ะ  ก็กว่าจะได้คิวพูดคุยกันก็ช้าสักนิด  เนื่องจากตอนนี้น้อง “การะเกศ” ฝึกงานกันแบบยาว ๆ  วันนี้แว็บ ๆ มาเจอกันแล้ว
    “การะเกศ”  เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเรียนต่อปริญญาตรีที่ มจพ. เรียนสายอาชีพมาก่อน ระหว่างที่กำลังฝึกงานระดับ ปวส. ที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ในจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับโอกาสฝึกงานแผนกวางแผนการผลิต (Production Planning Controls) นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่หนูได้ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต หลังจากที่ได้สัมผัสกับการทำงานจริง ทำให้รู้ได้ทันทีว่าอนาคตจะทำงานอะไร จึงหาความรู้เพิ่มเติมเสริมการทำงานสายนี้ แต่ในช่วงแรกก็ลังเล ไม่แน่ใจในการศึกษาต่อปริญญาตรี เนื่องจากที่เลือกเรียนสายอาชีพมาก่อนเพราะที่บ้านฐานะยากจน ปัจจัยด้านการเงินจึงเป็นตัวแปรสำคัญต้องตัดสินใจ และมหาวิทยาลัยที่รองรับการเทียบโอน  ที่สำคัญ คือ ได้เจอรุ่นพี่ที่จบคณะวิศวะอุตสาหกรรม มจพ.  และแนะนำ “ลองมาเรียนที่ มจพ. สิ พี่เชื่อว่าเกศเรียนได้แน่นอน ถึงจะเทียบโอนเข้าวิศวะฯ ไม่ได้ แต่มีอยู่อีกคณะที่เข้าเรียนได้ เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเลย” คำพูดนั้นจุดประกายในการเรียน จึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม  รายละเอียดหลักสูตรและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว จึงตัดสินใจทันทีว่า “ลองสู้” ถึงจะเรียนสายอาชีพ แต่ต้องจบ มจพ. เท่านั้น”  เมื่อตัดสินใจแล้วได้พยายามมุ่งมั่นและตั้งใจ  โดยได้รับกำลังจาก ศิษย์เก่า มจพ.  ทั้งผู้ใหญ่และพี่ ๆ หลายคน ต่างเชื่อมั่นและบอกว่ามา “เป็นลูกพระจอมฯ ด้วยกันนะ” เมื่อได้ยินแบบนี้ใจมันฟู่ ๆ อย่างเต็มภาคภูมิเลยว่า “หนูเลือกเรียน มจพ. ด้วยความตั้งใจค่ะ”
     การเรียนในมหาวิทยาลัย  ต้องปรับตัวในการเรียน เนื่องจากเรียนสายอาชีพมาก่อน ยิ่งต้องปรับตัวเยอะกว่าคนอื่นที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว แค่เรา “ต้องมีวินัย มุ่งมั่นและอดทน” ในภาคการศึกษาแรกเข้าเรียน มีการจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียน โครงการ Asian Virtual Youth Mobility Program 2023 ตัดสินใจเข้าร่วมอย่างไม่ลังเล จึงเป็นกิจกรรมแรกตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย การสัมมนาครั้งนั้นได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างดี จนได้รับรางวัล Best Group Presentation จากการสัมมนาด้วย ต่อด้วยภาคการศึกษาที่ 2 วิชา Design Thinking เรียกว่าเป็นวิชาเส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ   ระหว่างการเรียนการมองปัญหารอบตัวให้เป็นนวัตกรรม  คิดเชิงระบบและการเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่  ได้คิดค้นนวัตกรรมและนำเสนอการแข่งขัน Pitching Day เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และคำแนะนำจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปพัฒนานวัตกรรมต่อไป ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศโดยนำเสนอผลงานแอพ “Sold out”  เป็นนวัตกรรมแอพลิเคชั่นจัดการคลังสินค้า สำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม หลังจากได้รับรางวัลทางกลุ่มเห็นว่านสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ด้วยคำแนะนำของอาจารย์ประจำวิชา ให้รู้จักกับ KMUTNB Startup หรือศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มจพ. หน่วยงานที่สนับสนุนไอเดียและนวัตกรรมของนักศึกษาให้เข้าถึงโอกาสในการแข่งขัน เงินทุนการพัฒนาและการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต  เป็นโครงการ ของ มจพ. มอบ โอกาสและแหล่งเงินทุนมากมายที่เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนนักศึกษาอย่างเต็มที่ หนูได้ส่งเอกสารและเข้าแข่งขันในโครงการ Startup Thailand League 2023 ต่อในทันที ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนา โดยทีมของหนูก็ได้เข้ารอบจัดแสดงผลงาน Demo Day จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ SET ได้เป็นหนึ่งใน 100 ทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่แสดงผลงานด้านศักยภาพบุคคลภายนอกและนักลงทุนเข้าร่วมกิจกรรมอื่นเสมอ มีผลการเรียนเฉลี่ยรวมที่ 3.91 ในภาคการศึกษา 2/2566  ได้รับหน้าให้เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ และแนะนำการเรียนให้กับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่ในกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษา ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย” ด้วยประสบการณ์ที่มากตั้งแต่อยู่ที่ มจพ. ได้ถ่ายทอดให้น้อง ๆ ฟัง เมื่อเข้าเรียนที่ มจพ. ปัญหาการเงินของหนูก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก เพราะ มจพ. มีโครงการสนับสนุนนักศึกษาและทุนการศึกษามากมาย และได้รับคัดเลือกเป็น “นักศึกษาทุนบุญรอด พัฒนานิสิต นักศึกษา
    เมื่อเร็วๆ นี้ มจพ. ได้มีการจัดการประเมิน “เพชร มจพ.”เป็นปี 2566  เพื่อค้นหาตัวแทนนักศึกษาของสถาบันเข้าคัดเลือกรับรางวัลพระราชทาน หนูได้รับโอกาสและถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้ผ่านการประเมิน และได้รับรางวัล “นักศึกษา มจพ. ดีเด่น ระดับคณะ” แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการเข้ารอบคัดเลือกรางวัลพระราชทานที่ผ่านมา ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนๆ ที่ได้รับรางวัลทุกคน และขอบพระคุณอาจารย์ศุภกร เจริญประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชา BMS ที่หนูเชื่อมั่นว่าเป็นคนเสนอชื่อให้เข้ารับการประเมินในครั้งนี้ โดยอาจารย์เป็นคนที่สอบสัมภาษณ์หนูตอนที่คัดเลือกเข้าศึกษาต่อที่ มจพ. นั่นทำให้หนูนึกถึงความมั่นใจตั้งแต่วันแรกที่ได้เป็นลูกพระจอมฯ  ทำเต็มที่อย่างน้อยก็ไม่ได้ปล่อยโอกาสนี้ไปเฉย ๆ” เพราะการที่จะมาอยู่ ณ จุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีหลายคนที่ยินดีกับความสำเร็จเล็ก ๆ ทั้งครอบครัว ครู อาจารย์ เพื่อน ๆ และนี่เป็นเพียงก้าวแรกสู่การพัฒนา ยังคงต้องเรียนรู้และพัฒนาไปตลอดชีวิต จงภูมิใจกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ ถึงแม้ไม่สมหวังแต่ยังคงดีกว่าการไม่ได้พยายามทำอะไรเลย
     ตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรี   ได้พบเจอและผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย มีสิ่งที่อยากบอกกับน้อง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย คือ “อย่าเพิ่งกลัวอะไรที่ยังไม่เคยสัมผัส อย่าเชื่อคำว่ายากจากปากของคนอื่น” เพราะศักยภาพและขีดความสามารถในการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การปรับตัวและความตั้งใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน ความคิดสอนได้ทั้งคนที่คิดว่าตนเองไม่เก่งและคนที่คิดว่าตนเองเก่งแล้ว มันคือการให้กำลังใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ลองสู้ดูก่อน และขอเน้นย้ำด้วยว่า อย่าด้อยค่าความพยายามคนอื่น เพราะคำว่ายากของเราไม่เท่ากัน จงเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของตนและผู้อื่น รู้จักตนเอง ยอมรับข้อผิดพลาด แก้ไขและพัฒนาอยู่เสมอ และในชีวิตจริงไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลืออย่างสุภาพหากเราไม่สามารถแก้ปัญหานั้น ๆ  เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ก้าวก่าย ไว้ใจ ให้เกียรติกันเสมอ การที่จะอยู่ในสังคมที่ดีได้นั้น ต้องเริ่มโดยการเป็นสังคมที่ดีให้คนอื่นก่อน และหนูหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คนได้ หวังว่าในทุก ๆ วัน จะมีคนที่คอยส่งต่อกำลังใจและแรงบันดาลใจที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ขอให้ทุกวันของคุณ เป็นวันที่ดีและมีความสุขค่ะ “การะเกศ” กล่าวท้ายที่สุด
 
ขวัญฤทัย ข่าว -ภาพ