มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.มานพ ชูนิล ศาสตราจารย์ ในสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์
News Date04 กุมภาพันธ์ 2564
     ศาสตราจารย์ ดร.มานพ ชูนิล สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต วิชาเอกจิตวิทยาและสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท 2 สาขาคือ สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะศิลปศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับทุนการศึกษาจาก มจพ. ไปศึกษาต่อจนสำเร็จระดับปริญญาเอก สาขาจิตวิทยา หรือ Ph. D. (Psychology) จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย
   
     ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์ประยุกต์  ศาสตราจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เส้นทางการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยโอนย้ายมาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี  2530 สอบบรรจุรับราชการตำแหน่งอาจารย์ในสาขาจิตวิทยา ภาควิชาภาษาและสังคม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสาขาจิตวิทยา ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร ประธานกรรมการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ประธานกรรมการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นผู้มีความสนใจงานด้านจิตวิทยา เพราะศึกษาด้านนี้ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก เพราะประทับใจ และเรียนแล้ว สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างแท้จริง รวมถึงการให้บริการวิชาการแก่สังคมหลายมิติ เช่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์หลักสูตร เป็นกรรมการเพื่อประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบแบบสอบถามสำหรับการวิจัย เป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัย เป็นกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีบทความวิจัยทางด้านจิตวิทยาที่เผยแพร่เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ผลงานแต่งตำรา / หนังสือ ได้แก่ การประเมินการปฏิบัติงาน พฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ มนุษยสัมพันธ์ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
     
     ศาสตราจารย์ ดร.มานพ ชูนิล กล่าวถึงในการทำงานหรือการขอตำแหน่งทางวิชาการว่า... การยื่นขอผลงานให้สำเร็จถือเป็นเส้นทางอาชีพ (Career path) สำหรับอาจารย์ เป็นเส้นทางสูงสุดที่อาจารย์ซึ่งเป็นบุคลากรสายวิชาการจะก้าวสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ รวมถึงบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการที่จะก้าวสู่ในระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ควรก้าวไปให้ถึงจุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพ การเป็นศาสตราจารย์ ต้องจัดสรรการแบ่งเวลาให้เหมาะสม มีความอดทน พากเพียร หาความรู้ในเรื่องที่จะทำและแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำผลงานทางวิชาการ คิดวางแผนและลงมือทำ ความสำเร็จจะรออยู่ข้างหน้า อยากให้คิดและลงมือทำดีกว่า หากมัวแต่คิด แต่ไม่ทำ หรือทั้งไม่คิดและไม่ทำ ก็จะเสียโอกาสที่จะขอตำแหน่งทางวิชาการ ฉะนั้นควรคิดและลงมือทำจะดีกว่า รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ จากเดิมที่มองว่ายาก ไม่มีเวลา และน่าท้อใจ โดยให้มองว่าการขอตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นเรื่องท้าทาย
     
     แนวทางในการขอเสนอตำแหน่งทางวิชาการ  ควรเริ่มจากการเตรียมตัว ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ  โดยขอคำแนะนำจากศาสตราจารย์ท่านอื่นที่เคยขอตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้งขอคำแนะนำจากท่านอื่น ๆ ที่มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ อาทิ เจ้าหน้าที่ในกองบริหารและจัดการทรัพยากรมนุษย์ การฟังบรรยาย การสัมมนาต่าง ๆ ในหัวข้อการขอตำแหน่งทางวิชาการ   ส่วนการดำเนินการ ในเรื่องของการแต่งหนังสือจะ “ใช้วิธีการเลือกหัวข้อที่สนใจและชอบมาเขียนหนังสือ เพราะตอนเขียนจะมีความสุขมากที่จะได้ค้นคว้าและเขียน เมื่อได้หัวข้อหรือชื่อเรื่องที่จะเขียนแล้วจะแบ่งเป็นบทต่างๆ แล้วค้นคว้าหาเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องแต่ละบททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บทความวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงานวิจัยใหม่ ๆ ที่ทันสมัยรวบรวมไว้เป็นแฟ้มจนครบทุกบท” หลังจากนั้นจะลงมือเขียนทีละบท และเขียนส่วนต่าง ๆ ของหนังสือให้ครบ เช่น มีปก คำนำ สารบัญ เนื้อหา บรรณานุกรม ดัชนี เป็นต้น ในเรื่องงานวิจัยจะมีการวางแผนว่าจะทำวิจัยเรื่องใดบ้าง กี่เรื่อง ที่สำคัญงานวิจัยของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับหนังสือ เช่น เรื่องที่หนึ่งจะตรงกับบทที่ 2 ของหนังสือ เรื่องที่สองจะตรงกับบทที่ 12 ของหนังสือ เป็นต้น ผมเตรียมไว้ 4 เรื่อง แต่ละเรื่องจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ยกตัวอย่าง เช่น ระยะที่หนึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงปริมาณด้วยการสำรวจและระยะที่ 3 เป็นการวิจัยเชิงทดลอง แต่ละระยะจะต้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร เมื่อตีพิมพ์แล้วจะนำผลการวิจัยจากวารสารไปใส่ในหนังสือที่เราแต่งด้วยโดยใส่ในบทที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายครบครัน  อาทิ การสนับสนุนทุนวิจัย  และทุนการศึกษาต่อ  มีห้องสมุด-ตำรา  ฐานข้อมูลการวิจัยที่พร้อมที่จะวิจัย   รวมถึงการแต่งตำราต่าง ๆ ที่ทันสมัยจึงนับว่าเป็นความโชคดีของนักศึกษาและอาจารย์  
     
     แรงบันดาลใจที่ได้รับและทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นศาสตราจารย์ ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง ผู้ที่เป็นศาสตราจารย์ “จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถในการแต่งหนังสือ ตำราและวิจัย เป็นตำแหน่งที่ได้มาด้วยความยากลำบาก”  การขอผลงานนั้นหลายท่านอาจจะท้อ หมดกำลังใจที่จะทำผลงานและยื่นขอตำแหน่ง อยากแนะนำว่าให้มองบุคคลก่อนหน้านี้ที่เขาเหล่านั้นสามารทำได้  แล้วเราก็น่าจะมีโอกาสทำได้เช่นกัน อีกประการหนึ่ง อาจจะลองหาบุคคลที่เป็นต้นแบบสำหรับเราเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยอาจจะมองความสำเร็จของเขาที่เขาทำได้ แล้วเราพยายามทำเช่นนั้น ปัจจุบันจำนวนศาสตราจารย์มีไม่มากโดยเฉพาะศาสตราจารย์ในสาขาจิตวิทยา ด้วยความคิดดังกล่าวจึงน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พยายามทำผลงานและยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์  และยินดีที่การเป็นศาสตราจารย์จะสามารถช่วยงานทั้งในมหาวิทยาลัย และงานนอกมหาวิทยาลัยได้
     
     ความยากในการเตรียมตัวขอตำแหน่งศาสตราจารย์ คือ การมีภาระงานสอนและงานอื่นๆ ทำให้เวลาที่จะเขียนหนังสือหรือทำวิจัยเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายคนจะคิดแบบนั้น แต่ผมเองได้พยายามแบ่งเวลาหรือหาเวลาที่จะทำผลงาน ยกตัวอย่าง เช่น จะมีเวลาว่างเพราะปกติเราจะมีเวลาว่างจากการสอนในแต่ละวัน เวลารับประทานอาหารก็อาจจะทานครึ่งชั่วโมง อีกครึ่งชั่วโมงจะมาทำผลงาน ตกตอนเย็นจะนั่งทำผลงานจนตึกใกล้ปิด อาจะเลิก 2 – 3 ทุ่ม เสาร์ – อาทิตย์ จะใช้เวลามาทำผลงานเช่นกัน นอกจากนี้เราอาจจะวางแผนทำผลงานโดยใช้เวลาให้คุ้มค่าไม่เปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่าง ตอนนั่งแท็กซี่ไปเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยที่บริษัท ขณะอยู่ในรถแท็กซี่ ก็เอางานวิจัยไปอ่านเพื่อทบทวนวรรณกรรม เที่ยวขาไปอ่านบทคัดย่องานวิจัยได้ 5 เรื่อง เที่ยวขากลับอีก 5 เรื่อง กลับมาที่ทำงานก็มานั่งพิมพ์ผลการวิจัยเหล่านั้นใส่ในการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรา เป็นต้น จะพบว่าในเวลาเดียวกันคือไปเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยเรื่องหนึ่ง ก็อาจใช้เวลาเดียวกันในการทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง
     
     อุปสรรคในการเตรียมตัวเพื่อขอตำแหน่งฯ ก็มีบ้างอย่างในเรื่องของการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยทางจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอาจต้องเก็บข้อมูลจากพนักงานในองค์การต่าง ๆ บางครั้งผู้บริหารก็อาจปฏิเสธไม่ยอมให้เก็บข้อมูล เขาอาจเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พนักงานอาจไม่พอใจ กระทบต่อพนักงาน หรือเป็นภาระงานของเขาและของพนักงานที่จะต้องมาให้ข้อมูล จึงต้องหาองค์การอื่นๆ เพื่อขอเก็บรวบรวมข้อมูลและต้องมีการชี้แจงให้ผู้บริหารเข้าใจวัตถุประสงค์ของการวิจัย อุปสรรคอีกอย่างก็คือ การส่งบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ได้รับการปฏิเสธไม่ให้ตีพิมพ์เพราะบทความวิจัยอาจยาวเกินไป ซับซ้อน ทำให้ไม่สอดคล้องกับวารสารที่ส่งไป เพราะเป็นงานวิจัยแต่ละเรื่องมีการวิจัยถึง 3 ระยะ บางวารสารจะขอให้ตัดเอาแค่ระยะเดียวใช้ตีพิมพ์ก็ต้องหาวารสารใหม่ที่เหมาะสม เพื่อตีพิมพ์  ในยุคนี้มีวารสารมากมายทั้งไทย และ ต่างประเทศ ก่อนตีพิมพ์ต้องศึกษาหาวารสารที่เหมาะสม ซึ่งบางแห่งก็มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีคำแนะนำช่วยแก้ปัญหาอุปสรรค โดยถ้ามีอุปสรรค ก็อาจปรึกษาศาสตราจารย์ที่ทำผลงานแล้วเป็นรุ่นพี่ที่ได้ตำแหน่งมาก่อนหรืออาจารย์ท่านอื่นที่ได้ตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารนั้น ๆ  
สิ่งที่ประทับใจในรั้ว มจพ.  ประทับใจหลายอย่าง แต่ที่ความประทับใจมากที่ มจพ. สนับสนุนในเรื่องของการส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้า ผมเองได้ทุนของ มจพ. ไปศึกษาต่อปริญญาเอกทางด้านจิตวิทยาที่ประเทศออสเตรเลีย ประทับใจในเรื่องการให้ทุนวิจัยของ มจพ. ทำให้เป็นกำลังใจในการทำวิจัยและใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำผลงานและการขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น สำนักหอสมุดกลาง ที่มีฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ค้นคว้าทบทวนวรรณกรรมสำหรับทำวิจัยหรือค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือที่ทันสมัย และครอบคลุม แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่ก็มีหนังสือใหม่ ๆ ที่ทันสมัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย เจ้าหน้าที่ของสำนักหอสมุดกลางนั้นก็ให้คำปรึกษาอย่างดียิ่ง เกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ยังประทับใจกับเจ้าหน้าที่ของกองบริหารและจัดการทรัพยากรมนุษย์ของ มจพ. ที่ช่วยให้คำแนะนำอย่างชัดเจนในการดำเนินการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ และความประทับใจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจในการทำงานจากเพื่อนร่วมงาน มีการพบปะและพูดคุยกับพี่และน้องที่น่ารัก “บรรยากาศในการทำงานมีความเป็นมิตร อบอุ่น ทำงานอย่างมีความสุข ผมเองไม่เคยคิดที่จะไปทำงานที่อื่นเลย”
          คำแนะนำการทำผลงาน การยื่นเสนอขอผลงาน การแบ่งเวลาหรือหาเวลา อดทน พากเพียร หาความรู้ในเรื่องที่จะทำและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการทำผลงานทางวิชาการนั้นควรเตรียมการเนิ่น เพราะใช้เวลานานพอควร อาทิ การไปเก็บข้อมูลนอกสถานที่ ก็วางแผนงานใช้เวลา การทำผลงานนั้นสิ่งที่สำคัญขอให้ “เลิกคิดว่าเวลาไม่พอเพียง หาเวลาไม่ได้ จริง ๆ เวลามีมากมาย อยากให้คิดและลงมือทำ มากกว่าคิดและไม่ทำ หรือไม่คิดและไม่ทำ” ซึ่งผมใช้เวลาทำผลงานทั้งงานวิจัยและหนังสือตั้งแต่ ปี 2555 ผลงานแล้วเสร็จ และยื่นเรื่องที่คณะกรรมประจำส่วนงานวิชาการในปลายปี 2561 ได้รับข่าวว่าได้โปรดเกล้าแต่งตั้งราว ๆ เดือนสิงหาคม 2563  นับว่าใช้เวลายาวนานพอควร  เพราะต้องใช้งานวิจัย ใช้ตำราประกอบพอควร

     ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.มานพ ชูนิล ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศึกษาวิจัยในสาขาวิชาจิตวิทยา เป็นผู้มีผลงานด้านงานวิจัยโดดเด่น มุ่งมั่น นำองค์ความรู้ ความสามารถด้านงานวิจัยและประสบการณ์ด้านวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตร์ นับเป็นเกียรติประวัติที่มีคุณค่าเคียงคู่มหาวิทยาลัยสืบไป 

 ขวัญฤทัย ข่าว/วุฒิสิทธิ์ ถ่ายภาพ