มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
อาจารย์ มจพ. ให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ ประเด็น การสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้า
News Date04 กรกฎาคม 2565
           อาจารย์สันติ  อัตถไพศาล  อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโยลีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ เวลา 09.10 - 09.30 น. ในรายการ 100.5 อาสาเตือนภัย  ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM.100.5 เกี่ยวกับประเด็น “การสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้า” ดำเนินรายการโดย คุณศิริพร กิจประกอบ และ คุณพงศ์อิทธิ์ เชิดชูวงศ์ เมื่อวันที่ 3 กรฎาคม 2565
           สืบเนื่องจากรณีที่เป็นข่าวดังจาก "หม้อแปลงระเบิดที่สำเพ็ง" โดยอาจารย์สันติ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หม้อแปลงไฟฟ้าที่นิยมใช้มาก ที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ในงานอุตสาหกรรมทั่วไปปัจจุบัน “เป็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเป็นตัวระบายความร้อน” อาจมาจากราคาที่เหมาะสมที่สุดกับการใช้งาน  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีความแข็งแรง มีความมั่นคงสูง  ในทางปฏิบัติค่อนข้างจะบอกยากว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด เพราะตัวของโครงสร้าง คือถังหม้อแปลงไฟฟ้า (ในถังก็มีขดลวดหม้อแปลงอยู่) ก็มีความแข็งแรง ปิดมิดชิด ฉะนั้นการที่จะเกิดการระเบิดได้ มันจะต้องมีแรงดันข้างใน จนทำให้ตัวถังเกิดการบวม จึงจะเกิดการระเบิดได้ แต่ทั้งนี้ การเกิดการระเบิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าได้ นั่นก็หมายความว่า "น้ำมันข้างในเกิดความร้อน มีแรงดันของน้ำมัน จนทำให้ตัวถังมันพอง บวม หรืออ้าออก จนทำให้เกิดการระเบิด" เพราะน้ำมันที่รั่วก็ร้อนๆ พอไหลออกมาเจอกับออกซิเจน ทำให้เกิดการติดไฟ  ในความเป็นจริงแล้วหม้อแปลงไฟฟ้าเขาจะมีการบำรุงดูแลรักษาประจำปี ทั้งจากการไฟฟ้าหรือของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานของการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าอยู่แล้ว 
           สำหรับคำแนะนำ อาจารย์สันติ ได้ระบุว่า หากอยู่ใกล้ ๆ สิ่งที่กระทำคือ การสังเกตโดยทั่วไปควรมีความรู้ ความเข้าใจในเบื้องต้น หรือควรเรียนรู้วิธีการปฏิบัติ  ดังนี้
1) ระยะความปลอดภัยในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า
2) ขอบเขตที่จะเข้าใกล้หม้อแปลงไฟฟ้า เช่น ระยะเท่าใดที่ห่างจากตัวหม้อแปลงไฟฟ้า ที่เป็นระยะปลอดภัย หรือการเข้าใกล้แบบชั่วคราว-ถาวร เป็นต้น
3) ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้า ก็สามารถช่วยสังเกตได้ เช่น สีของหม้อแปลง มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เช่น อาจมีจุดรอยไหม้ ที่เกิดจากความร้อนที่สูงขึ้น
4) หากพบเห็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่มี “สภาพเกิดเป็นไอร้อน-มีควัน”  ที่สามารถมองเห็นได้ สามารถแจ้งผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ
5) กรณีเกิดหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดฉุกเฉิน ควรอยู่ให้ห่างไกลไว้ก่อน "เนื่องจากเบื้องต้นไม่รู้ว่าน้ำมันที่เกิดจากแรงระเบิดจะมีมากหรือน้อย” และไม่ควรไปดับไฟเอง เพราะค่อนข้างอันตราย ควรให้การไฟฟ้าทำการตัดไฟฟ้าเสียก่อน
           สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติ่ม ได้ที่ อาจารย์สันติ  อัตถไพศาล  อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 081-628-4996
 
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ