รศ.ดร.สินชัย ชินวรรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน – อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการทดสอบชิ้นส่วนและสมรรถนะเครื่องบินทะเลสองที่นั่งตามมาตรฐานเพื่อการรับรองการสมควรเดินอากาศ” เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก มจพ. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ทุนวิจัยต่อยอดสร้างเครื่องบินทะเล NAX-5 หลังจากความสำเร็จของการสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเล NAX-2 สำเร็จเป็นลำแรกของไทย โดยนักวิจัยจากกองทัพเรือ นำโดย พล.ร.ท. สมหมาย ปราการสมุทร หัวหน้าโครงการ พลอากาศตรี ปรีชา วรรณภูมิ หัวหน้าทีมออกแบบเครื่องบินทะเล และทีมนักบินนำโดย พล.ร.ต. กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ซึ่งทำการบินมาแล้วกว่า 200 ชั่วโมง สามารถวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้อย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันนำมาใช้ในการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ตามภารกิจของกองทัพเรือและใช้ในการฝึกการปฏิบัติให้กับหน่วยราชการ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) มีมติบูรนาการผลงานวิจัยเครื่องบินทะเลสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างความมั่นคงทางทะเลและสนับสนุนการท่องเที่ยว นำไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบ-สร้างเครื่องบินทะเล 2 ที่นั่ง (NAX-5)” โดยทีมนักวิจัยจากกองทัพเรือ และ "โครงการทดสอบชิ้นส่วนและสมรรถนะเครื่องบินทะเลสองที่นั่งตามมาตรฐานเพื่อการรับรองการสมควรเดินอากาศ” โดยทีมวิจัยจาก มจพ. ซึ่งต้นแบบเครื่องบินทะเลลำใหม่ NAX-5 นี้ กำหนดให้สร้างโดย ฝีมือและมันสมองคนไทย 100% ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการออกแบบและวิเคราะห์ที่แม่นยำ โดยมุ่งเป้าการใช้วัสดุในประเทศด้วยวัสดุคอมโพสิต ที่มีราคาย่อมเยาว์แต่มีความแข็งแรงในการผลิตเครื่องบินทะเล ขนาด 2 ที่นั่ง NAX-5 นี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มของ Light Sport Aircraft ซึ่งมีความปลอดภัยในการบิน และ มีความพร้อมในการบินตามหลัก VFR และ IFR ได้ รวมถึงมีมาตรฐานด้านการสร้างตามหลักวิศวกรรมอากาศยาน พร้อมที่จะได้รับใบอนุญาตความสมควรเดินอากาศ (Certificate of Airworthiness) จาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทำให้สามารถนำ ไปขยายผลต่อยอดเพื่อใช้ในภารกิจขององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนในเชิงพาณิชย์ ได้
รศ.ดร.สินชัย ชินวรรัตน์ เปิดเผยต่อไปว่า มาตรฐานการบินสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับมีอยู่ 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานระบบอเมริกาเหนือ Federal Aviation Administration (FAA) และมาตรฐานระบบยุโรป European Union Aviation Safety Agency (EASA) สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ได้ออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานทั้งสองแบบ สำหรับการบินพลเรือนทั่วไป (General Aviation) โดยเฉพาะในส่วนเครื่องบินแบบ Light Sport Aircraft ได้กำหนดให้ใช้มาตรฐาน ASTM F-2245 : Standard Specification for Design and Performance of a Light Sport Airplane ซึ่งประกอบด้วย 8 หัวข้อสำคัญ มากำกับกระบวนการสร้างและทดสอบเครื่องบิน ในส่วนความแข็งแรงโครงสร้างเครื่องบิน ตลอดจนการทดสอบระบบเครื่องบินทั้งหมดในภาคพื้นและภาคอากาศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีสมรรถนะในการบินตามสากล ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการบินพลเรือนทั่วไป เครื่องบินทะเล NAX-5 ซึ่งเป็น Light Sport Aircraft นี้ตามมาตรฐานกำหนดให้ น้ำหนักเครื่องบินวิ่งขึ้นสูงสุดไม่เกิน 650 กิโลกรัม หนึ่งเครื่องยนต์ และไม่มีการสร้างความกดอากาศ (Unpressurized)
กระบวนการสร้างและทดสอบ เริ่มจาก Preliminary Design โดยทดสอบแบบจำลองตามหลักวิศวกรรมในทุกมิติก่อน จากนั้นจึงสร้างลำ Mock up ขึ้นเพื่อทดสอบรายละเอียดความแข็งแรงของโครงสร้าง ว่ามีความแข็งแรงตามที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าชิ้นส่วนทุกชิ้นมีการผลิตตามมาตรฐาน ASTM F-2245 จริง เมื่อได้ผลตามมาตรฐานแล้ว จึงผลิตลำ Prototype และปรับปรุงแบบเป็น Final Detail Design ในที่สุด และทำการบินทดสอบภาคอากาศ (Flight Test) จำนวนขั้นต่ำ 36 ชั่วโมงบินตาม AC 90-89B จนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการทำ Approve Final Design และ Compliance Matrix จึงจะสามารถนำเครื่องบินทะเลไปจดทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ ซึ่ง บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด วิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ต่อยอดการผลิตเครื่องบินทะเลของประเทศไทย เพื่อใช้งานในเชิงพานิชย์ในอนาคต
รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และผู้ประสานงานชุดโครงการ “อุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ” สกสว. กล่าวว่า เครื่องบินทะเล NAX-5 นี้ได้รับพระราชทานนามเรียกขานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ชลากาศยาน” โดย NAX-5 สร้างตามมาตรฐานและมีคุณสมบัติวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้ จุน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุด 90 ลิตร ใช้ระบบการเติมน้ำมันตามมาตรฐาน เครื่องยนต์มีความสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 15 – 20 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันออกเทน 91/95 สามารถบินได้นาน 4-5 ชั่วโมง ที่ความเร็วเดินทาง 120 ไมล์ต่อชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 160 ไมล์ต่อชั่วโมง มีพิสัยบินไกลสุด 300 นอติคอลไมล์ ที่รัศมีปฏิบัติการ 120 นอติคอลไมล์ มีเพดานบิน 10,000 ฟุต วิ่งขึ้นสูงสุด 1,430 ปอนด์ และรับภาระทางอากาศพลศาสตร์ได้ -2 ถึง +4 เท่าของน้ำหนักเครื่องบิน สำหรับในการบินทดสอบภาคอากาศ ครั้งแรกของเครื่องบินทะเล NAX-5 สามารถทำการบิน ณ สนามบินอู่ตะเภาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพและจะทำทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยในการบินภาคอากาศ ตามมาตรฐานการบิน AC 90-89B ต่อเนื่องไปจนจบกระบวนการ และจะนำไปสู่การจดทะเบียนเพื่อขอรับการรับรองความสมควรเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) ในที่สุด
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน – อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีคณาจารย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบิน– อวกาศ ซึ่งโดยจัดการเรียนการสอนเป็นระยะเวลา 15-20 ปี ทำให้มีองค์ความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์อย่างสูงยิ่ง ปัจจุบัน ห้องปฎิบัติการของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีซอฟต์แวร์ สามารถออกแบบและวิเคราะห์ทาง Structure และ Aero Dynamic ได้อย่างดียิ่ง ประกอบกับได้บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด วิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเครื่องบินทะเล จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องบินทะเล เพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันเป็นแสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความภาคภูมิใจในการเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องบินทะเล ร่วมกับทีมวิจัยจากกองทัพเรือ และผู้ผลิตจากบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เพื่อการใช้งานและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอุตสาหกรรมการบินทั่วไป (General Aviation) นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มีศักยภาพที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จะสร้างโอกาสและรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
สอบถามรายละเอียดได้ที่ รศ.ดร. สินชัย ชินวรรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 0-2913-2500 ต่อ 8308, 8315
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ