มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
TFII เปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุมอัตโนมัติ และพลังงานทดแทนสมัยใหม่ “TFII-Schneider Electric Center of Excellence”
News Date28 กุมภาพันธ์ 2567
            วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.15 น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส (TFII) เปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุมอัตโนมัติ และพลังงานทดแทนสมัยใหม่ “TFII-Schneider Electric Center of Excellence”  โดยมี ฯพณฯ Mr. Jean-Claude Poimbœuf เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย  ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรศักดิ์  ศรีสังสิทธิสันติ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส  นายมงคล ตั้งศิริวิช ประธานคลัสเตอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว ดร.ยศศิริ อาริยะกุล  ผู้แทนมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทยและลาว Mr. Arumugaraj Davitdurai Pandian ผู้อำนวยการ ASSIST ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมตัดริบบิ้นพร้อมลงนามบนแผ่นป้ายเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุมอัตโนมัติ และพลังงานทดแทนสมัยใหม่ “TFII-Schneider Electric Center of Excellence” ณ ชั้น 3 ฝ่ายคอมพิวเตอร์เพื่องานอุตสาหกรรม สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.
             ภายในงานมีการสาธิต การบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายสำหรับอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล วิทยากรจากสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส และชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้แก่ เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม ทั้ง IOT Smart Control Panel และ COBOT ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยในการทำงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ  เทคโนโลยีสำหรับอาคารและที่พักอาศัย อาทิ ระบบมอนิเตอร์พลังงาน (Power Monitoring Expert) และระบบอาคารอัจฉริยะ
             “ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุมอัตโนมัติและพลังงานทดแทนสมัยใหม่” (TFII-Schneider Electric Center of Excellence) เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการที่ดำเนินงานร่วมกับบริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด แห่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส ชไนเดอร์ อิเลคทริค และมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค มุ่งมั่นสร้างบุคลากรมืออาชีพรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่จำเป็นต่อความสำเร็จในด้านระบบอัตโนมัติ พลังงานหมุนเวียน และระบบอัจฉริยะ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้วิศวกรจำนวนมากในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนในอนาคตอันใกล้
              TFII-Schneider Electric Center of Excellence จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส สำหรับใช้ในการพัฒนานักศึกษา คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกำลังคนให้มีความเชี่ยวชาญในระบบควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม ระบบการควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบบ้านอัจฉริยะ ระบบ SCADA และ IOT ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
            ในระยะแรกของการดำเนินงาน TFII-Schneider Electric Center of Excellence จะจัดฝึกอบรมให้กับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจะจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ให้กับวิทยาลัยเทคนิค และวิทยายาลัยการอาชีพ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่อผลิตวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ให้กลับไปสอนและฝึกอบรมแก่นักศึกษาในวิทยาลัย ตามเป้าหมายของโครงการความส่งเสริมร่วมมือทางวิชาการที่ได้ดำเนินการไว้
             พิธีเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศฯ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม นำโดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส และบริษัท ชไนเดอร์ อิเลคทริค (ประเทศไทย) มุ่งมั่นสร้างบุคลากรมืออาชีพรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่จำเป็นต่อความสำเร็จในด้านระบบอัตโนมัติ พลังงานหมุนเวียน และระบบอัจฉริยะ โดยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของทั้งนักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งนี้จะเป็นเวทีเตรียมความพร้อมให้กับกำลังคนในอนาคต เพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในภูมิภาค
 
รุ่งนภา/ข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์/ภาพ