เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) รองศาสตราจารย์ ดร.จุฬาลักษณ์ ค้าไม้ นายมานัส แดงชาติ และนายณัฐวุฒิ ประสาททอง พร้อมด้วยทีมงาน สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ (MAE) บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ให้ความอนุเคราะห์ทางด้านวิชาการ และสนับสนุนอุปกรณ์การทดสอบสำหรับโครงการวิจัย “Muay Thai Head Guard Protection for Youth” ให้แก่ นายภูมิกาญจ แต่ดุลยสาธิต ผู้ก่อตั้งกองทุน Playing Forward ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาเด็กที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา กองทุน Playing Forward ก่อตั้งด้วยแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเล่นฟุตบอล ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่ทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจนต้องหยุดพักการเล่นกีฬาเนื่องจากอาการบาดเจ็บ
โครงการวิจัยนี้มีที่มาจากข้อมูลกีฬามวยไทยที่มีเด็กอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมากถึง 200,000 – 300,000 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงจากการกระทบกระเทือนทางสมองในระยะยาว นายภูมิกาญจ เล็งเห็นว่า ในการแข่งขันกีฬามวยไทยในเด็กควรจะมีอุปกรณ์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสมอง จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว และได้ขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในการสนับสนุนบุคลากรทางวิชาการและอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการทำวิจัย โดยในวันนี้ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลความเร็วของหมัดและความเร่งของศีรษะในหุ่นทดสอบ Hybrid III ที่ได้รับการต่อยโดยนักมวยเด็กในลักษณะต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาปรับปรุงอุปกรณ์ Head Guard protection สำหรับนักมวยเด็ก และกำหนดการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บศีรษะต่อไป
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในกีฬามวยไทยสำหรับเยาวชน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับนักกีฬาเยาวชนของไทยในอนาคต
พัทธนันท์/ข่าว
วุฒิภัทร/ภาพ