มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ลงนามความร่วมมือทุนวิจัยกับบริษัท สมาร์ทสเตชั่น ร่วมทุนวิจัยสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ
News Date25 ธันวาคม 2563
ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.ยืนยง นิลสยาม, ผศ.ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ, รศ.ดร.พิสิษฐ์ ลิ่วธนกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. เข้าร่วมในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการวิจัย โครงการระบบบูรณการอัจฉริยะ สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า กับ ดร.พศิน สืบทรัพย์อนันต์ และ นายวรุตม์ ธรรมกุล กรรมการบริษัท สมาร์ทสเตชั่น จำกัด วัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย ด้านการศึกษา และการเรียนรู้ร่วมกันของนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสององค์กร ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่ โดย มจพ. ได้ร่วมมือกับบริษัทสมาร์ทสเตชั่น ผู้ประกอบการธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในการวิจัยและพัฒนาระบบบูรณการอัจฉริยะสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Integrated Charging Station System) โดยได้รับทุนส่วนหนึ่งจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งสถานีที่จะพัฒนาภายใต้ทุนวิจัยนี้ จะเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าต้นแบบที่มีการนำเทคโนโลยีการบริหารควบคุมซอฟท์แวร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์เครื่องชาร์จ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS : Energy Storage System) และการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่สถานีด้วยศูนย์บริการรถยนต์และร้านกาแฟ  โดยสถานีอัจฉริยะแบบครบวงจรดังกล่าวจะถูกนำมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา เกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเป็นสถานีต้นแบบให้แก่ SMEs ที่ต้องการต่อยอดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท สกายเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV : Battery Electric Vehicle) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสมาร์ทสเตชั่น ในการสนับสนุนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยคุณอังคกาญจน์ ตันติวิรุฬห์ กรรมการ และ คุณปริญญ์ เสถียรปกิรณกรณ์ ที่ปรึกษาบริษัทฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างอาชีพให้แก่นักศึกษาแล้วจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5  ในการนี้มีคณะผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสององค์กรเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 212 อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (อาคาร 81) เมื่อวันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563
พัทธนันท์/ข่าว
เบญจพร/ข้อมูล-ภาพ