มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี จัดฝึกอบรมพัฒนาสื่อการสอนออนไลน์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างช่องทางจำหน่ายชาชงสมุนไพร (กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี) สำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนนนทรีวิทยาคม”
News Date25 กรกฎาคม 2566
            เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี นำโดย อ.ดร. พัชรี ปราศจาก ผู้รับผิดชอบโครงการ อ.ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย อาจารย์พี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัย และคณาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร และครูพีรธัท ยิ่งเจริญ ครูผู้ประสานโครงการ ตลอดครูและนักเรียนต้นแบบจากโรงเรียนนนทรีวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และสื่อการสอนออนไลน์ด้านการแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรให้กับวิสาหกิจชุมชน
            ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “โครงการฝึกอบรมพัฒนาสื่อการสอนออนไลน์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างช่องทางจำหน่ายชาชงสมุนไพร (กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี) สำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนนนทรีวิทยาคม” ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
             กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรจากครูและนักเรียนต้นแบบ และแนะนำการใช้สื่อการสอนออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการด้านการแปรรูปให้กับวิสาหกิจชุมชน ภายในโครงการได้มีการสาธิตการใช้สื่อออนไลน์ผ่านระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง google site เรื่อง “ห้องเรียนแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรออนไลน์” และให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ใช้ระบบการเรียนออนไลน์เพื่อประเมินการเรียนรู้ด้านการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรจำนวน 3 สื่อการสอน ได้แก่ บทที่1 เรื่องการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มสมุนไพรจิงจูฉ่าย” บทที่2 เรื่องการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาชงสมุนไพรจิงจูฉ่ายอบแห้ง และบทที่ 3 เรื่อง การจัดทำสื่อและช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทางเกษตรเบื้องต้น” พร้อมกับการอบรมเชิงปฏิบัติการการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรจากผลิตภัณฑ์ด้วย โดยมีเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 10 คน
            ผลจากการดำเนินโครงการนี้จะทำให้เกิดครูและนักเรียนต้นแบบที่มีความรู้ด้านการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร และสื่อการสอนออนไลน์ที่สร้างขึ้นจะทำให้ผู้เรียนที่ได้ผ่านการอบรมเกิดความรู้และความเข้าใจด้านการแปรรูปและสามารถต่อยอดความรู้ให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ต่อไปในอนาคต

อ.ดร.เปรมศักดิ์/ข่าว