มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
คณาจารย์ มจพ. คิดค้นงานวิจัยพัฒนา Software สำหรับอุปกรณ์บนรถไฟฟ้าโดยส่งมอบให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTS เพื่อนำไปใช้จริง
News Date27 พฤษภาคม 2563
รศ.ดร.สมภพ ตลับแก้ว หัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. พร้อมด้วย อ.ภาณุวัฒน์ สรนันต์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล และ ผศ.ชัชวาล ชินวิกัย อาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. ร่วมคิดค้นงานวิจัยและพัฒนา การประยุกต์ความน่าเชื่อถือ ความพร้อมใช้งาน ความสามารถในการบำรุงรักษาสำหรับระบบปฏิบัติการขนส่งทางราง งานวิจัยนี้ได้พัฒนา Software เพื่อพยากรณ์อายุการใช้งานของอุปกรณ์รถไฟฟ้า ได้แก่ ระบบห้ามล้อ ระบบปรับอากาศ ระบบประตูโดยสาร และระบบสนับสนุน ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ด้วยหลักการ RAM (Reliability, Availability and Maintainability) เพื่อพัฒนาวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ของตู้โดยสารรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง โดยการนำฐานข้อมูลการซ่อมบำรุงอุปกรณ์รถไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบ SAP (ทั้งหมด 52 ขบวน และแต่ละขบวนมี 4 ตู้โดยสาร) มาสร้างสร้างอัลกอริทึมในการคำนวณค่าทางวิศวกรรมความน่าเชื่อถือ เพื่อพยากรณ์ความน่าจะเป็นในการใช้งานอุปกรณ์ว่าสมควรใช้งานต่อได้อีกมากน้อยแค่ไหน ความพร้อมใช้งาน และ ความสามารถในการซ่อมให้เสร็จทันในเวลา เพื่อให้ฝ่ายวางแผนการซ่อมและโลจิสติกส์ได้ใช้ในการบำรุงรักษารถไฟฟ้า โดยที่ผ่านมา BTS ใช้โปรแกรมบริหารงานซ่อมบำรุง (Computerized Maintenance Management System: CMMS) ที่เป็นเพียงประมาณการและไม่สามารถทราบถึงอายุอุปกรณ์และความน่าจะเป็นของอายุอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ หรือคาดคะเนโอกาสที่จะใช้ต่อไป 
 โปรแกรมการวิเคราะห์ RAMS สามารถพยากรณ์หาค่าความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ และนำไปวิเคราะห์หาโอกาสความเป็นไปได้ของอายุอุปกรณ์และการเตรียมทรัพยากรให้เหมาะสมต่อไป เช่น การเตรียมเรื่องงบประมาณและการประมาณการเก็บอะไหล่ ซึ่งโปรแกรมจะนำเข้าข้อมูลจาก CMMS ที่เก็บประวัติงานซ่อมแซม (Corrective Maintenance) แล้วมาวิเคราะห์ตามที่ผู้วิจัยได้เขียนวิธีการคำนวณไว้ในโปรแกรม ซึ่งการเขียนโปรแกรมดังกล่าว ก็ได้ customized บางอย่างให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมการทำงานของ CMMS ของบริษัท
บริษัท BTS ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือและโปรแกรม RAM ในครั้งนี้คือ
สามารถนำค่าที่หาได้จากโปรแกรมไป Implement ในเรื่องความมั่นใจที่จะใช้ equipment ชิ้นนั้นๆ ต่อไป ภายใต้ทรัพยากร เช่น งบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือจำเป็นต้องเตรียมการหางบประมาณเพิ่มในอนาคต โดยอนาคตที่ว่านี้ สามารถคำนวณได้จาก % ที่ได้จากค่า Reliability ดังกล่าว สามารถนำไปใช้วางแผนยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ หากอุปกรณ์นั้นๆ ยังมี potential ให้สามารถพัฒนาต่อไปได้ ค่าทีได้จากโปรแกรมดังกล่าวมีอีกหลายอย่าง เช่น ค่า MTTR ก็สามารถนำมาวิเคราะห์และปรับวิธีการทำงานหรือการซ่อมแซมให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ดีขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ทีมคณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก สวทช. ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกันสร้างและพัฒนางานวิจัยต่างๆ ให้ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป
พัทธนันท์/ข่าว