มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
งานวิจัย มจพ. ชี้ เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นก ผลิตภัณฑ์สุขภาพแนวใหม่ ต้นทุนต่ำ
News Date19 เมษายน 2567
ผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นก” เป็นงานวิจัยที่นำเอามะระขี้นกแห้งจำนวนมากที่เหลือจากการจำหน่ายของวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองสิบสาม จังหวัดสระแก้ว มาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกแห้งด้วยกระบวนการผลิตแบบตู้อบลมร้อนที่มีต้นทุนต่ำและไม่มีขั้นตอนซับซ้อน   ผงพร้อมชงก็ละลายและพร้อมดื่ม ไม่มีการใส่น้ำตาล และเลือกใช้หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวานแทน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป  และสารสกัดมะระขี้นก มีสารชาแรนติน (Charantin) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น  โดยผงพร้อมชงมะระขี้นก มี 3 รส คือ รสดั้งเดิมเฉพาะมะระขี้นก รสกลิ่นใบเตย เสริมความหอมจากใบเตย และ รสกลิ่นมะลิเสริมความหอมจากมะลิ ซองบรรจุภัณฑ์เสริมอัตลักษณ์ของชุมชน ช่วยเพิ่มมูลค่ามะระขี้นกแห้งให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,500 – 3,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรที่อยู่ในวิสาหกิจชุมชนมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเพิ่มการสร้างช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งรูปแบบ On-line และ On-site  ได้การพัฒนาสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภคใช้งบประมาณ  จำนวน 500,000 บาท ใช้ระยะการในการดำเนินการโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ 3 เมษายน 2566 ถึง 3 เมษายน 2567         
    ทีมวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย  หัวหน้าโครงการ  ผศ.ดร.เกตินันท์ กิตติพงศ์พิทยาอาจารย์ ดร.โกศล น่วมบาง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรและการจัดการ คณะอุตสาหกรรมเกษตรดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขต ปราจีนบุรี และ อาจารย์ สัญญา โพธิ์วงษ์  อาจารย์แผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก  จังหวัดนครนายก
     อาจารย์ ดร.เปรมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นก” ที่นำมาแปรรูปเป็นผลผลิตที่มีการวางจำหน่ายของเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนเป็นการจำหน่ายมะระขี้นกแห้งเพียงอย่างเดียว และไม่มีการแปรรูปมะระขี้นกเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแต่อย่างใด โดยเกษตรกรจะจำหน่ายมะระขี้นกแห้งในราคาประมาณ 450 บาทต่อกิโลกรัม ส่งขายให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
   1) เครื่องดื่มผงพร้อมชงมะระขี้นกขมน้อย พกพาง่าย เพียงฉีกซองแล้วเทลงในแก้วที่มีน้ำร้อนหรือน้ำเย็นคนเพียงเล็กน้อย ผงพร้อมชงก็ละลายและพร้อมดื่ม ส่วนผสมของผงพร้อมชงไม่มีการใส่น้ำตาลและเลือกใช้หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวานแทน ทำให้เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากในเครื่องผงพร้อมชงมะระขี้นกมีสารชาแรนติน (Charantin) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น
   2) ผลิตภัณฑ์มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นและน่าสนใจได้แก่
      2.1 ซองบรรจุผงพร้อมชงมีอัตลักษณ์ของชุมชน โดยใส่ภาพเขาฉกรรจ์ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนลงไปที่ซองบรรจุผงพร้อมชง เพื่อให้ผู้ที่เลือกซื้อได้กลิ่นความเป็นธรรมชาติและความเป็นเกษตรอินทรีย์
      2.2 มีตัวเลือกสูตรของผงพร้อมชงมะระขี้นกที่หลากหลายตามความพึงพอใจชองผู้บริโภค โดยมีจำนวน 3 สูตร ได้แก่ 1.สูตรออริจินอล (Original) เป็นรสชาติดั้งเดิมของมะระขี้นก 2.สูตรกลิ่นมะลิ เป็นรสชาติมะระขี้นกผสมความหอมจากกลิ่นมะลิ และ3.สูตรกลิ่นใบเตย เป็นรสชาติมะระขี้นกผสมความหอมจากกลิ่นใบเตย
      2.3 มีขนาดบรรจุซองให้เลือกหลายขนาดสำหรับผู้ใช้ ได้แก่ ซองกลาง มี 4 ซองเล็ก ซองละ 10 กรัม (ราคาซองกลาง ซองละ 100 บาท) และซองใหญ่ มี 10 ซองเล็ก ซองละ 10 กรัม (ราคาซองใหญ่ ซองละ 250 บาท)         
      ผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นก” นี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ประจำปี 2566 ด้านการใช้ประโยชน์เชิงชุมชนสังคม จากสำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้ชื่อโครงการ “การเพิ่มมูลค่ามะระขี้นกแห้งด้วยการแปรรูปในรูปแบบเครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกสำหรับวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปเครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกด้วยตู้อบลมร้อนให้มีมาตรฐานและเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด ซึ่งทีมนักวิจัยหวังว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถนำมะระขี้นกสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพแนวใหม่ที่มีคุณภาพและสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรผู้ปลูกมะระขี้นกได้ต่อไป
        อย่างไรก็ตามเป้าหมายของโครงการ คือ การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยให้กับเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองสิบสาม อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนหนึ่งในจังหวัดสระแก้วมีความพร้อมด้านการเพาะปลูกและแปรรูปสมุนไพรเพื่อส่งออกและจัดจำหน่ายเป็นอย่างมาก และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SDGs&PGS จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสระแก้วอีกด้วย โดยวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองสิบสามมีพื้นที่ทั้งหมดของสมาชิกครอบคลุม 198 ไร่ มีสมาชิกจำนวน 110 รายทั่วจังหวัดสระแก้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อผลิตและจำหน่ายสมุนไพรท้องถิ่นในจังหวัดสระแก้วและใกล้เคียง เช่น ขมิ้นชัน มะระขี้นก ฟ้าทะลายโจร ลูกกระดอม และ หนุมานประกาย เป็นต้น โดยมีจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับหน่วยงานของรัฐและมีบริษัทเอกชนทั่วประเทศ ทำให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีมูลค่าการจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรปีละหลายล้านบาท โดยเฉพาะมะระขี้นกแห้งซึ่งกลุ่มเกษตรกรปลูกมากที่สุดมีมูลค่าการจำหน่ายประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี  และด้วยโครงงานวิจัยนี้เน้นการสร้างงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรจำพวกมะระขี้นกแห้งให้สามารถแปรรูปเป็นเครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกแห้งนั้น ภายในโครงการได้มีการจัดการการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นกด้วยการใช้ตู้อบลมร้อน การสร้างคู่มือการผลิตผงพร้อมชงสำหรับวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก การพัฒนาสูตรและการออกแบบบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มผงพร้อมชงที่เหมาะสมกับผู้บริโภค
        สำหรับการนำไปต่อยอดหรือสร้างองค์ความรู้ ตัวเกษตรกรที่ได้รับการอบรมในโครงการสามารถต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรที่มีในชุมชนให้เป็นเครื่องดื่มจากพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ได้ ทำให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรทางเลือกที่หลากหลายได้ในอนาคต หากให้มองถึงการแข่งขันการตลาดมีทิศทางที่ดีตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจแนวใหม่ เมื่อคนหันมาใส่ใจสุขภาพทั้งแนวโน้มทางการตลาด พฤติกรรมของคน และการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้านการออกกำลังกายและด้านการบริโภคอาหารที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค โดยที่คำนึงถึงสุขภาพจากการบริโภค และเลือกบริโภคแต่ที่ดีต่อร่างกาย เป็นต้น  โอกาสของมูลค่าทางการตลาดเรื่องสุขภาพมีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่รักสุขภาพทำให้ผลิตภัณฑ์น่าจะเป็นต้องการของตลาดได้  ตัวผงพร้อมชงที่บรรจุในซองซึ่งพกพาง่าย และสามารถละลายได้ทั้งละลายได้ทั้งน้ำร้อนและเย็น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสะดวกในการรับประทาน เหมาะกับกลุ่มผู้ที่ต้องการรับประทานสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการใช้ผลิตภัณฑ์ และลงทุนเริ่มต้นไม่สูงมาก ทำให้เกิดช่องทางสำหรับวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ด้วยตนเอง
      ผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มผงพร้อมชงจากสารสกัดมะระขี้นก” สามารถติดต่อ หรือสนใจสินค้าวิสาหกิจชุมชน ติดต่อได้ที่  คุณธนวรรณ  กันกาญจนะ  ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองสิบสาม (ฟาร์มจ่าทูล) เลขที่ 55/1 ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์  จังหวัดสระแก้ว (27000)  Line: ipetty.chic, Facebook: ฟาร์มจ่าทูล-สมุนไพร โทรศัพท์: 090-292-9059, 080-965-7157 หรือติดต่อโดยตรง  อาจารย์ ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย คณะอุตสาหกรรมเกษตรดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 063-054-1379
 
ขวัญฤทัย  ข่าว-ภาพ