มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
“ต้นข้าว” น.ศ. แลกเปลี่ยน วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. เผยชอบโลจิสติกส์ เพราะมันคือหัวใจของระบบการจัดการการส่งสินค้า
News Date26 มิถุนายน 2566
นายสรวิศ โรจนเกษม ชื่อเล่น “ต้นข้าว” นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์  วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ให้ความสนใจทางด้านโลจิสติกส์ (Logistics) เพราะผมคิดว่า “เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานของหลายภาคส่วน ของกระบวนการส่วนหนึ่งของในการขนส่ง” ปัจจุบันการบริการลูกค้าและส่งมอบสินค้าที่รวดเร็ว เป็นความต้องการของลูกค้า นั่นหมายถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของหน่วยงานนั้นที่สามารถบริหารจัดการ  ผมจึง “ให้ความสนใจที่จะเรียนด้านโลจิสติกส์ (Logistics)  และเป็นอันดับแรกที่เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์” เป็นพิเศษ  โดยศึกษาหาข้อมูลก่อนที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้  หนุ่มชิวอย่าง “ต้นข้าว ” ด้วยลุคความเป็นธรรมชาติ มีอัธยาศัยดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย กินง่ายอยู่ง่าย ไม่เรื่องมาก ชอบการเข้าร่วมการทำกิจกรรม เพื่อนอยู่ใกล้ ๆ อยู่ด้วยแล้วสบายใจ หากทำอะไรแล้วเต็มไปด้วยเป้าหมายที่แน่นอน
 
“ต้นข้าว” เล่าให้ฟังว่า ผมจบจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ในระหว่างนั้นก็หาข้อมูลมาโดยตลอดว่าหากจะต่อในระดับอุดมศึกษาจะต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ที่ผมอยากเรียนด้านโลจิสติกส์ (Logistics)  จึงเลือกวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. เพราะสนใจเพราะด้านนี้ เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็พบว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยังมีหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถหาช่องทางศึกษาต่อต่างประเทศได้ง่ายขึ้น จึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัว
 
ผมได้รับรางวัลเรียนดีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และยังรับโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ เช่น ได้รับเลือกให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร จัดโดย Singapore Polytechnic และนำเสนอแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย ผลงานล่าสุดที่ผมทำคือ การได้รับเลือกเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัย Rosenheim Technical University of Applied Sciences ประเทศเยอรมนี
 
 ส่วนการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและเรียนได้อย่างมีความสุข วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับผมคือ การเข้าใจเนื้อหาที่เรียน และการตั้งใจเรียนในห้องเรียนคือสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายที่สุด นอกจากนั้นการจดบันทึกยังช่วยให้เราจำสิ่งที่เรียนได้ง่ายขึ้น การวางตัวที่ดีกับเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องก็เป็นการช่วยให้การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นประสบการณ์ที่ดีขึ้น เช่น การสมัครเป็นประธานฝ่ายสวัสดิการของคณะช่วยให้ผมได้คุยกับคนมากขึ้น และได้ฝึกความเป็นผู้นำมากขึ้น  นอกจากนั้นควรเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และการเป็นมิตรกับเพื่อน ๆ และอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างสนุกสนาน  เพราะในมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ผมเรียนอยู่ในปัจจุบันมีโครงการส่งเสริมให้นักศึกษาได้โอกาสไปเรียนต่างประเทศมากมาย การทำเกรดให้ดี การฝึกการสื่อสารกับชาวต่างชาติหรือการฝึกพูดภาษาอังกฤษ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้เป็นการเตรียมตัวที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่ต้องการสมัครโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ การมีผลวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ เช่น IELTS เองก็เป็นตัวช่วยอย่างมาก
 
การได้ไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนีเป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุด และเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดของผม การได้เห็นระบบการเรียนและวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่าง และได้พบกับอาจารย์ที่มีความสามารถมากมาย บุคลากรและศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Rosenheim Technical University of Applied Sciences แต่ละคนนั้นดูแลนักศึกษาเป็นอย่างดี การหาที่อยู่และการเรียนเป็นไปอย่างราบรื่นโดยความช่วยเหลือจากฝ่ายนานาชาติของทางมหาวิทยาลัย โดยนอกจากการเรียนในห้องเรียน ยังมีการทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ การเข้าแล็บ การฟังวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์จริง และการเยี่ยมโรงงานเพื่อดูสถานที่และกระบวนการทำงานอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าการใช้ชีวิตในช่วงแรกอาจมีความยากลำบากในเรื่องการสื่อสารเล็กน้อยเนื่องจากผมมีพื้นฐานภาษาเยอรมันที่ไม่แข็งแรง โชคดีของผมที่คนเยอรมันหลายคนใจดีและพยายามสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างสุดความสามารถ เมื่อเวลาผ่านไปผมก็ได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันมากขึ้น ผมก็เริ่มรู้สึกสนุกกับการพยายามฟังและสื่อสารด้วยภาษาใหม่
 
“ต้นข้าว” บอกอีกว่า รู้สึกประทับใจอาจารย์และบุคลากรทุกคนในวิทยาลัยนานาชาติ โดยเฉพาะคณบดีที่ใส่ใจและพยายามหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ไปเรียนต่างประเทศ  อาจารย์มีอัธยาศัยดีและเป็นมิตรกับนักศึกษาอีกด้วย สุดท้ายนี้ “ผม” มองว่าการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในงานที่ทำ การใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ให้น้อยลง และการตั้งใจเรียนเพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป

ขวัญฤทัย ข่าว