มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านหุ่นยนต์ทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ ได้ประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อให้บริการทางการแพทย์ โดยมอบหมายให้ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบความแม่นยำขั้นสูง (Center of Innovative Robot and Advanced Precision Systems : IRAPs) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมอดีตนักศึกษาที่เคยเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาหลายสมัย ร่วมมือกันในการประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อภารกิจช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จำกัด) และกลุ่มบริษัทโพลีโฟม รวมทั้งได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ช่วยในการทดสอบหุ่นยนต์ โดยจะส่งมอบหุ่นยนต์อัตโนมัตินี้ให้กับโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ แห่งละ 1 ตัว
ทีมนักวิจัยจากศูนย์ IRAPs ได้ดำเนินการตั้งแต่การออกแบบ ประกอบ เขียนโปรแกรมควบคุม ใช้เวลาไม่นาน สามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติ 2 ตัว โดยทั้งคู่มีชื่อว่า IRAPs SHaRE-aGIVeR ซึ่งชื่อนี้ต้องการสื่อความหมายถึง การเป็นผู้ให้ โดยชื่อ SHaRE เป็นชื่อที่ใช้เรียกส่วนบนของหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเป็นลักษณะของถาดวางของพร้อมระบบสื่อสารทางไกล โดยเป็นชื่อย่อที่มาจากคำว่า Sending Help and Resources Everywhere หรือแปลได้ว่าส่งความช่วยเหลือหรืออุปกรณ์ต่างๆไปได้ทุกที่ และคำว่า aGIVeR มาจากคำว่า automated Guided Indoor Vehicle Robot เป็นหุ่นยนต์นำทางอัตโนมัติที่ใช้ภายในอาคาร ซึ่งเป็นชื่อเรียกหุ่นยนต์ส่วนล่างที่เป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์อัตโนมัติ 2 ตัวนี้มีความสามารถในการสร้างแผนที่ทั้งแบบ 2 มิติและ 3 มิติ นำส่งเวชภัณฑ์ อาหาร หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจน รวมทั้งมีระบบสื่อสารทางไกลเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยโดยไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด หรือสามารถเปิดเพลง วีดีโอ หรือคำอวยพรจากญาติๆให้ผู้ป่วยได้ฟังเพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้สึกผ่อนคลายและมีกำลังใจ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้คำนึงถึงการทำความสะอาด จึงได้สร้างตู้สำหรับอบฆ่าเชื้อบนตัวหุ่นยนต์ด้วยแสงยูวีซีแบบระบบปิด โดยโครงสร้างทำจากแผ่นอลูมิเนียมเพื่อเพิ่มการสะท้อนแสง และติดตั้งหลอด uvc ขนาด 55 W จำนวน 8 หลอด ทำให้มีการกระจายแสงได้อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ซึ่งจากการวัดค่า ณ ตำแหน่งตรงกลางของตู้พบว่าสามารถสร้างพลังงานจากแสงยูวีได้ ซึ่งการฉายแสงโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที จะสามารถฆ่าเชื้อที่ใกล้เคียงกับเชื้อที่ทำให้เกิด Covid-19 ได้ 99.9% ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อและควบคุมหุ่นยนต์โดยใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือว่าแท็บเล็ตผ่านโครงข่ายไร้สายที่ติดตั้งภายในหุ่นยนต์ เมื่อเริ่มต้นใช้งาน ผู้ใช้กดเลือกตำแหน่งที่ต้องการให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไป และเมื่อหุ่นยนต์ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่ หุ่นยนต์มีความฉลาดที่จะเลือกเส้นทางการเคลื่อนที่ที่ดีที่สุด พร้อมทั้งสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางไม่ว่าจะเป็นสิ่งกีดขวางที่อยู่กับที่ หรือสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนที่ได้ หรือหากเส้นทางถูกปิดกั้น หุ่นยนต์สามารถคิดเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ได้เองแบบอัตโนมัติ และช่องแคบที่แคบที่สุดที่หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้คือ โจทย์สำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ได้ทีมวิจัยได้รับมา คือ นอกจากเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างโดยคนไทย 100% แล้ว ยังต้องมีราคาที่ไม่สูงเกินไป โดย 1 ระบบ ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 ตัว ชุดโครงข่ายไร้สาย 1 ชุด และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง ใช้งบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้ทุกโรงพยาบาลหรือหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถที่จะช่วยสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างได้เหมาะสมกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ รวมทั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมาอยู่บนตัวหุ่นยนต์สามารถต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้ทันที
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์มาแล้วมากมาย ครั้งนี้ได้นำประสบการณ์มาต่อยอดในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยฝีมือคนไทยที่สร้างและออกแบบขึ้นเองและได้ผ่านการทดสอบการใช้งานจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาลว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ทำให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาวะการณ์เช่นนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของพวกเราชาว มจพ.
สนใจนวัตกรรมสามารถติดตามการเคลื่อนไหวการทำงานของศูนย์ IRAPs ได้ที่ Facebook : IRAP Robot
พัทธนันท์/ข่าว
ทีม iRAP/ภาพ