มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ประสบการณ์นอกห้องเรียนกับความสำเร็จที่ต้องพยายาม ใส่ใจ ตั้งใจ และเต็มที่กับสิ่งที่ทำ
News Date03 ตุลาคม 2562
นายฐิติยศ ประกายธรรม ชื่อเล่น “มายด์”  นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน  วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นอีก 1 ในสมาชิกทีมหุ่นยนต์กู้ภัยผู้มีความสามารถด้าน Mechanical เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ การสร้างและการซ่อมบำรุงจากทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Sechzig  (ไอราฟ เซคซิก)  ผลงานล่าสุดคว้ารองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ประจำปี  พ.ศ. 2562
“มายด์”  ก็เป็นอีกคนที่กวาดรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์มาหลายเวที เกิดที่จังหวัดนนทบุรี ขณะที่พูดคุยก็ดูมีบุคลิกที่เงียบๆ แต่แฝงไปด้วยพลังที่เป็นตัวของตัวเองสูง มีความมั่นใจ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ถ้าเลือกตั้งใจจะทำอะไรแล้วเราก็จะเต็มที่กับมันครับ จนบางทีก็ทุ่มมากไปจนเสียการเรียนไปบ้างทำให้ผมก็ต้องจัดสรรเวลาในการทำงานและเรื่องเรียนให้ดีๆ  ผมเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้และค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ระบบส่งกำลังให้หุ่นยนต์ใหม่ๆ โครงสร้าง วัสดุใหม่ๆ  “มายด์”  บอกว่าผมจบการศึกษาระดับมัธยมต้น (ม.3) จากโรงเรียนพิชญศึกษา ซึ่งเป็นโรงรียนแรกที่เริ่มทำหุ่นยนต์ ได้เรียนรู้พื้นฐานของหุ่นยนต์มาบ้าง และได้มาทำหุ่นยนต์เพื่อแข่งขันอย่างจริงจังก็ตอนได้เข้าเรียน ปวช. ที่โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ความรู้จากวิชาต่างๆ มาเสริมความสามารถมากครับ
ผลงานการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ผ่านๆ มา ได้แก่ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย (TPA robot) 4 ครั้ง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2  การแข่งขันหุ่นยนต์  "World Robot Games Thailand Championship" (WRG) 2 ครั้ง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1, 2 เข้าแข่งขันรายการ CRU 3 ครั้ง และการแข่งขันรายการ World Robocup Resuce 1 ครั้ง ได้รับรางวัล First place best in class mobility และ second place in rescue competition
จากเวทีหุ่นยนต์ที่ผมได้แข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน ผมได้รู้ว่า “การที่จะทำหุ่นยนต์ให้ประสบความสำเร็จ สักเวทีหนึ่งต้องอาศัยความพยายาม ความตั้งใจและใส่ใจแบบพิเศษอย่างมากๆ เพื่อทำให้หุ่นยนต์ออกมาดี” รวมถึงการทำงานเป็นทีม เพราะทีมงานดีมีความสามัคคีและตั้งใจทำและเต็มที่กับมันทุกสิ่งทุกอย่างย่อมออกมาดีแน่นอนครับ  ส่วนประสบการณ์นอกห้องที่ได้จากการทำหุ่นยนต์ iRAP เรื่องแรก คือ การแบ่งเวลาให้เป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ครับ เพราะผมก็พลาดไปแล้วอย่างที่เคยบอกไว้ การจัดการเวลาที่ดีทำให้เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ออกมาได้ลงตัว เรื่องที่สอง คือ ความกดดัน เพราะการทำหุ่นยนต์ในแต่ละเวทีการแข่งขันจะมีเวลาจำกัดมากย่อมเกิดความกดดัน ในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ ร่วมรับรู้ และต้องอยู่กับมันให้ได้ ความกดดันแบบนี้หาได้ยากในห้องเรียนครับ (หัวเราะ) เรื่องที่สาม การประยุกต์ความรู้ จากห้องสู่การลงมือปฏิบัติจริงซึ่งมันคือของจริงๆ ที่จับต้องได้แน่นอน ผมว่าในแต่ครั้งที่ทำหุ่นยนต์ได้ใช้ความรู้ในห้องเรียนเยอะมากๆ
 “มายด์” บอกว่าเมื่อจบไปแล้วอยากทำงานอยู่ 2 ด้าน ที่ทำให้ผมยังมีความลังเลอยู่ว่าอยากจะเข้าทำงานเป็น “ช่างหรือวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือว่าเรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์” จะได้ถ่ายถอดความรู้ทางด้านหุ่นยนต์และอากาศยานสู่รุ่นน้อง แต่ใจจริงๆ ผมอยากจะ “มีบริษัทของตัวเองที่จะนำระบบหุ่นยนต์ไปส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอากาศยานให้มากขึ้น” จากความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้หลายๆ ด้าน ผมสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้มันดีขึ้นไปอีกครับ!!   จากการแข่งขันหุ่นยนต์นี้เอง  ผมว่าเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาหลาย ๆ คน  หันมาเก็บเกี่ยวความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหุ่นยนต์ให้มี
ประสิทธิภาพสูงสุดในการแข่งขัน อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รหัสคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล ปัญญาประดิษฐ์ เซ็นเซอร์ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตได้แน่นอน
อยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หันมาสนใจทางด้านหุ่นยนต์มากขึ้นเพราะในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนมนุษย์มากขึ้นทำให้ผู้มีความรู้ทางด้านหุ่นยนต์จะได้เปรียบกว่า และทางชมรมหุ่นยนต์ของเราเปิดรับสมัครน้อง ๆ
ที่สนใจทุกสาขาวิชา เพื่อจะได้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของเราสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำขึ้นต่อไป มีพี่คนหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า "ถ้าคุณกลับบ้านไปเล่นเกมแล้วไม่อ่านหนังสือเอาเวลามาทำหุ่นดีกว่า" ฉะนั้นผมจึงไม่ได้มองว่านี่เป็นเพียงการแข่งขันเท่านั้น แต่เรามองเห็นถึงอนาคตที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการสร้างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในอุตสาหกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมทั้งจะสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

 ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ