ผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้มหาวิทยาลัยที่สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มครูอาจารย์และบรรดานักเรียน นักศึกษา กลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นลำดับต้น ๆ เพราะหลายสถาบันการศึกษาได้เริ่มใช้มาตรการงดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้ในช่วงนี้อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนมาเป็น 'การสอนแบบออนไลน์ แทน แล้วในส่วนของนักศึกษาล่ะ !! เขาเหล่านั้นมีแผนและเตรียมรับมือกับการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ? วันนี้วิบวับ สัมภาษณ์รัว ๆ ผู้นำนักศึกษา มจพ. ที่ขานรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นใครกันบ้างมาดูกัน
1. นายวรปรัชญ์ ห่อแก้ว ชื่อเล่น “ธง” ที่ปรึกษานายกองค์การนักศึกษา กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขา
วิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สำหรับตัวผม “คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเรียนการสอนต้องปรับตัวกันเยอะทีเดียว เนื่องจากเราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม” แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถรวมกลุ่มคน สำหรับจัดการเรียนการสอนบนโลก Social เป็นทางออกที่ดีครับ แถมยังสามารถเรียนได้หลาย ๆ คน ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกันเหมือนอยู่ใกล้ ๆ กัน ตัวนักศึกษาต้องทำความเข้าใจในการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ สำหรับอาจารย์ผู้สอนก็เตรียมพร้อมสำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สื่อที่นำมาใช้และออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย
2. นายพิสิฏฐ์พศ โสภาพร ชื่อเล่น “บิว” นายกองค์การนักศึกษา กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชา
เทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (EnET) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ตามที่ มจพ. ได้ประกาศ เรื่อง แนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 2 นั้น สำหรับตัวผมก็ได้เตรียมแผนการรับมือ สำหรับการเรียนออนไลน์ คือ “การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการเรียนออนไลน์ พร้อมฝึกฝนการใช้โปรแกรมให้คล่อง จะได้ไม่เสียเวลาเมื่อได้ใช้งานจริง” และที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ตื่นเช้า ๆ เรียนตามตารางเวลาเรียน และตั้งใจฟังอาจารย์ผู้สอน รวมถึงบันทึกวิดีโอการสอนของอาจารย์ไว้ เอาไว้ดูย้อนหลังเพื่อทบทวนความเข้าใจเพื่อเติมครับ
3. นายเชาว์วัฒน์ สุวรรณภูเต ชื่อเล่น “เบ็นช์” นายกสโมสรนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม
และการออกแบบ กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการงานออกแบบภายในและพัฒนาธุรกิจ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ในส่วนของแผนรับมือคือ ผม “ได้มีการเตรียมโปรแกรมด้านการเรียนการสอนเเล้ว รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารจากทั้งตัวของอาจารย์ หรือจากมหาลัยอยู่ตลอดเวลา” ส่วนแนวทางรับมือนั้นที่จะต้องเรียนออนไลน์ ช่วงแรกก็อาจจะเป็นเรื่องยากของทั้งตัวอาจารย์และนักศึกษา ทั้งในเรื่องของความไม่คุ้นเคย ระเบียบของตัวนักศึกษาและอาจารย์ รวมไปถึงการปรับตัวการสอนของตัวอาจารย์เอง แต่ตัวผมก็มองว่ามันจะช่วยให้การเรียนการสอนมันมีมิติมากขึ้นไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องตลอดเวลา ตัวนักศึกษาและอาจารย์ก็มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล และบางทีวิกฤต COVID-19 นี้อาจจะทำให้ มจพ. มีความคิดแนวทางในการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ที่ช่วยในการเรียนการสอนในอนาคตก็ได้ครับ
4. น.ส.อทิตา บุญมา ชื่อเล่น “กิ๊ฟ” นายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กำลังศึกษา
อยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สำหรับช่วงนี้สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ ตระหนักถึงมาตรการเฝ้าระวังให้มาก ควรจะปฏิบัติตามแบบแผนอย่างเคร่งครัด ให้สอดคล้องมาตรการของรัฐ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อสอดรับกับมาตรการ Work from home ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ในส่วนการเรียนการสอนออนไลน์ ควรศึกษาโปรเเกรม Zoom เป็น App ที่เหมาะกับการเรียนการสอนในช่วงนี้ ด้วยการทำงานของโปรเเกรมเป็นระบบ VDO conference ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐ และฝากถึงเพื่อน ๆ ทุกคนด้วย
5. นายนันทวัฒน์ คนหมั่น ชื่อเล่น “ต่อ” นายกสโมสรนักศึกษาคณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม
(BID) กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและทรัพยากรมนุษย์(BBR) คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม(BID) สิ่งที่ยังคงน่าเป็นห่วง คือ การแก้ปัญหาโดยการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา ในส่วนของข้อดี ทำให้เกิดความสะดวกในการเรียนการสอน นักศึกษาสามารถเรียนออนไลน์แม้จะอยู่ที่พักอาศัย ในส่วนของข้อเสีย มักจะเกิดจากเรื่องอุปกรณ์หรือสัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนการสอน แนวทางในการแก้ปัญหานี้ ผมว่า “ควรเตรียมความพร้อมของตัวเองให้มากที่สุด” แต่ในส่วนของปัญหาภายนอกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุปกรณ์หรือสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ควรจะแจ้งให้กับอาจารย์ประจำวิชาได้รับทราบ และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นการปรับตัวของอาจารย์และนักศึกษา เป็นการแสดงออกถึงการปรับตัวให้เข้าสถานการณ์และการแสดงถึงความรับผิดชอบ ความพร้อม ความตั้งใจ ที่มากกว่าครั้งไหน ๆ
6. นายนพรัตน์ มากมี ชื่อเล่น “เบนซ์” นายกสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (ACET) สำหรับผม “การเรียนออนไลน์ก็ต้องหาโปรแกรมที่ค่อนข้างจัดระบบได้ง่าย เช่น Microsoft Team เพราะโปรแกรมสามารถแยกเป็นหลาย ๆ วิชาได้ และสามารถดูประวัติการแชร์ไฟล์ได้สะดวกตรงที่ตัวช่วยการใช้งานเยอะครับ” การปรับตัวเมื่อเรียนออนไลน์ ต้องปรับตัวเยอะขึ้นมาก ๆ เลยนะครับ ปกติการไปเรียนในคลาสจะมีแรงกระตุ้นในการไปเรียนให้ทันเวลาคือ ต้องตื่นล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง แต่การเรียนออนไลน์เรียนอยู่ที่บ้านจะไม่ค่อยมีแรงกระตุ้นในการเรียน อาจจะงีบพักระหว่างเรียนได้ ควรมีระเบียบในตัวเองให้มากขึ้น และการเรียนออนไลน์อาจจะได้งานมาทำเยอะมากกว่าการไปเรียนในคลาส เราจึงต้องจัดสรรเวลาในส่วนนี้ให้ดีเช่นกันครับ เราต้องชนะ COVID-19 ไปด้วยกันครับ “ใช้ชีวิตให้มีความสุขครับ”
7. นายนครินทร์ ตะโกเนียม ชื่อเล่น “ริว หรือ รองปริ๊นซ์” รองนายกสโมสรนักศึกษาคณะ
วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ (ILet) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (EAT) มจพ. สำหรับผม “ในช่วงนี้นักศึกษาบางส่วนได้มีการเรียนออนไลน์ ตามรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียน โดยการเรียนผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียน เช่น การใช้โปรแกรม” แผนการเรียนการออนไลน์ของผมคิดว่าช่วงนี้แหละคือ โอกาสทองของพวกเราที่จะหาความรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ช่วงนี้เหมาะมากที่จะเรียนออนไลน์เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความรู้ของเรา ทั้งการใช้โปรแกรมและเนื้อหาที่ผู้สอนได้ตั้งใจจัดเตรียมไว้ให้พวกเรา
8. นายธนกฤต ศรีบุญเรือง ชื่อเล่น "เตอร์" รองนายกองค์การนักศึกษาฝ่ายนักศึกษาสัมพันธ์ กำลัง
ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในส่วนตัวผมแล้วได้เตรียมตัวสำหรับปีการศึกษา 2563 ที่กำลังจะมาถึง โดยการเตรียมความพร้อมการเรียนออนไลน์ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านซอฟแวร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ศึกษาขั้นตอนการใช้งานของซอฟแวร์ และสัญญาณการเชื่อมต่อ ส่วนด้านฮาร์ดแวร์ที่จะช่วยให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพได้ใกล้เคียงกับห้องเรียนจริงมากที่สุด เช่น ตรวจสอบไมค์ ลำโพง อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนให้มีความพร้อมต่อการศึกษาในสถานการณ์นี้ครับ
การเรียนการสอนต่อไปภายใต้วิกฤติโรคระบาดนี้ ทั้งการสอนสดที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้ทันที คือเห็นหน้าเห็นตาโต้ตอบสอบถามคุยกันได้ หรือแม้แต่ความจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกัน ยังสามารถทำผ่านทางออนไลน์ด้วยเครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ อาทิ กูเกิลไดรฟ์ ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 นั้น เราต้องมีสติ มีความอดทนพึ่งพาตนเอง มีความพยายามเข้าใจกันและกันนั้นมีความจำเป็น เพื่อให้สังคมผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ดังเช่นปรากฏการณ์ absolute digital ที่บังคับให้ทุกคนต้องปรับตัวมาใช้ online & on demand กันแบบฉับพลัน นับตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การช็อปปิ้ง การติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบในการทำงานมาเป็นการประชุมออนไลน์ โลกหลังการศึกษายุคโควิดจบไป มันคือโอกาสและความเป็นไปได้ที่รออยู่ไม่ควรทิ้งเวลาให้สูญเปล่า
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ