มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. แถลงข่าวเปิดตัว ”รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ” (Automated People Mover : APM) จากโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในปี 2564 จาก อว.
News Date15 ธันวาคม 2565
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัว “รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ (Automated People Mover : APM)” โดยมี ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวรายงานโครงการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและทีมนักวิจัย เข้าร่วมแถลงข่าว  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้รับการสนับสนุนในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในปี 2564 จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้เกิดโครงการการพัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ใช้งบประมาณรวม 9 ล้านบาทในการพัฒนารถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ (Automated People Mover : APM) ขึ้นเอง โดยความร่วมมือจากนักวิจัยและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ รถรางอัตโนมัติ APM เป็นรถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีต โดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางเพื่อช่วยนำทางและบังคับการเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัย มีการใช้งานรถ APM ในสนามบินหลายแห่งทั่วโลกรวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในประเทศไทยมีการใช้งานระบบ APM ในรถไฟฟ้าสายสีทอง
คณาจารย์ทีมวิจัย ประกอบด้วย
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ กิตติสาธร (หัวหน้าโครงการ) ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ ภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.
  3. อาจารย์ ดร.วัยอาจ สายคง ภาควิชาภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.
  4. อาจารย์ ดร.ธนภัทร พุทธศรี ภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.
รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ของ มจพ. มีจุดเด่นของการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองในประเทศไทย 3 ด้าน คือ
1.  การออกแบบโครงสร้างตัวรถ อุปกรณ์รางนำทาง (Guide Rail) ชิ้นส่วนต่างๆ ตามหลักวิศวกรรม โดยมีการจำลองภาระแรงต่างๆ ที่วัสดุได้รับการจำลองการบิดตัวและการยุบตัวของโครงสร้าง
2. การผลิตชิ้นส่วนจากวัสดุน้ำหนักเบาจากงานวิจัยวัสดุผสมจากธรรมชาติ เพื่อลดน้ำหนักตัวรถทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้ระยะทางมากขึ้น และนำเส้นใยธรรมชาติ เช่น เส้นใยกัญชง เส้นใยมะพร้าวมาผสมเพื่อผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ภายในรถ
3. การออกแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า การจัดการด้านพลังงาน ระบบควบคุมการทำงานของรถแบบอัตโนมัติ และระบบจำลองการเดินรถ (Simulator) ตามหลักการทำงานของรถรางแบบไร้คนขับ
ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ Automated People Mover นอกจากตัวรถขนส่งผู้โดยสารแล้วยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางนำทาง ระบบจ่ายไฟฟ้า  ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ ฯลฯ จึงมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการนำเข้าจากต่างประเทศ รถ APM เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่นิยมสำหรับวิ่งในท่าอากาศยานหรือภายในสถานที่ที่ต้องการระบบขนส่งขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น ย่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งในต่างประเทศมักนิยมนำรถ APM เข้าไปช่วยในการลดระยะทางในการเดินของผู้โดยสารภายในอาคารหรือระหว่างเทอร์มินอลกับอาคารเทียบเครื่องบิน เช่น สนามบินฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น ข้อดีของรถ APM คือ วงเลี้ยวแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี และการใช้ล้อยางไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ และช่วยให้สามารถเร่งความเร็วหรือเบรกได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนารถ APM ต้องอาศัยความรู้ในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีการออกแบบ วัสดุศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้าและควบคุม และวิศวกรรมการผลิต เป็นต้น ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงเป็นการบูรณาการนักวิจัยในสาขาต่างๆ ในการจัดสร้างรถ APM พร้อมระบบการเดินรถที่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านการทดสอบและสาธิตในพื้นที่ใช้งานจริง โดยนำผลงานวิจัยของนักวิจัยที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดผลิตเป็นรถ APM ขึ้นในประเทศที่ได้มาตรฐาน  เพื่อลดการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และพร้อมนำไปต่อยอดในเชิงพานิชย์ อีกทั้งยังใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพื่อสนับสนุนบริษัทหรืออุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศอีกด้วย ในการนี้มีแขกผู้มีเกียรติและสื่อมลชนเข้าร่วมในการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุม Cloud 9 ชั้น 9 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พัทธนันท์/ข่าว
วุฒิสิทธิ์/ภาพ