มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ.ประสบความสําเร็จ โครงการดาวเทียมแนคแซท พร้อมสู่วงโคจรด้วยจรวด Falcon9
News Date05 ตุลาคม 2561
ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา หัวหน้าโครงการดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT มาจาก King Mongkut’s University of Technology North Bangkok Academic Challenge of Knowledge SATellite)พร้อมด้วย นายนวรัตน์ วรกุล นักศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ได้ประสบความสําเร็จ ในการประกอบดาวเทียมแนคแซทเข้ากับอุปกรณ์ ปล่อยดาวเทียมของบริษัท Spaceflight ณ เมืองออเบิร์น รัฐวอชิงตัน ประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดาวเทียมแนคแซท เป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยทีมอาจารย์และนักศึกษา จาก มจพ. ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทยและภายในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ความสำเร็จของโครงการดาวเทียมแนคแซทนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง
ประโยชน์ของดาวเทียมเพื่อการศึกษาสัญชาติไทยดวงแรก 
1. เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสบการณ์การสร้างดาวเทียมจริงให้กับบุคลากร (อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา) ของประเทศ 
2. เพื่อเป็นฐานรากในการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไปภายในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง 
3. เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชน ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต
มจพ. เซ็นสัญญาส่งดาวเทียมแนคแซทกับ บริษัท Spaceflight ในมิชชั่น SSO-A โดยบริษัท Spaceflight ได้ร่วมเซ็นสัญญากับ บริษัท SpaceX เพื่อส่งกลุ่มดาวเทียมในมิชชั่น SSO-A ด้วยจรวด Falcon 9 จากฐานทัพอากาศ แวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยดาวเทียมแนคแซทจะถูกส่งเข้าสู่ วงโคจรรอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 575 กิโลเมตร ในปลายปีนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.knacksat.space
http://spaceflight.com/sso-a/
http://www.spaceflight.com/taking-space-knacksat/  

พัทธนันท์/ข่าว