รศ.ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเผากากของเสีย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เล่าให้ฟังว่า เตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็กขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ที่ใช้สำหรับเผาทำลายหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้ออื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พลังงานสีเขียวของ มจพ. ได้ดี เป็นหนึ่งนโยบายแผนยุทธศาสตร์ของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย มจพ. ได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในแต่ละส่วนของมหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำ แก้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินการ ที่ผ่านมา มจพ. ได้ขับเคลื่อนแผนต่าง ๆ สู่การดำเนินการในการจัดกิจกรรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็กฯ นี้เป็นการกำจัดขยะติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิด เนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในวิถี New Normal ในปัจจุบัน ทำให้ไม่ต้องขนส่งขยะติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดนอกมหาวิทยาลัย “ลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขนส่ง ลดภาระขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ต้องกำจัดขยะติดเชื้อ และเป็นการจัดการขยะมูลฝอยแบบเบ็ดเสร็จภายในรั้วของมหาวิทยาลัย” นอกจากนี้ยังสามารถนำน้ำมันทอดใช้แล้วจากโรงอาหารมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเตาเผา ทำให้ลดภาระการจัดการน้ำมันทอดใช้แล้ว ลดปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเสีย สามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำไฟฟ้าจากแสงแดดซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ได้มาใช้กับเตาเผาได้ ตอบโจทย์พลังงานสีเขียว และ Zero Waste ของมหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมาย คือ การทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล โดยการส่งเสริมหมุนเวียนทรัพยากร และลดปริมาณของเสียให้มีน้อยที่สุด ตามหลัก 3R คือ ลดใช้ การใช้ซ้ำ และ การรีไซเคิล สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน เตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็กและเผาขยะติดเชื้อที่เผาทำลาย ณ แหล่งกำเนิดเป็นชิ้นแรกของประเทศ มีผลงานต้นแบบ 2 ชุดแล้ว เตาเผาหนึ่งชุดใช้งบประมาณชุดล่ะ 100,000 บาท โดยศูนย์วิจัยเผากากของเสีย ได้สร้างเตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ต้นแบบจำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 ติดตั้งที่ มจพ. กรุงเทพ และชุดที่ 2 ที่ มจพ. วิทยาเขตระยอง โดยได้รับทุนสนับสนุนในการจัดสร้างเตาเผาดังกล่าวจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. และพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วและรวมถึงชุด PPE โดยต้องมีการจัดเก็บแยกออกจากขยะทั่วไป ณ แหล่งกำเนิด ในถุงขยะติดเชื้อ จากนั้นจึงนำไปกำจัดในเตาเผา ซึ่งเตาเผามีความสามารถในการกำจัดชั่วโมงละ 13.5 กิโลกรัม เตาเผามีสองห้องเผาไหม้ ห้องเผาไหม้แรกใช้สำหรับเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยการจ่ายอากาศเข้าไปเผาในห้องเผาไหม้และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ไม่ต่ำกว่า 760°C ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้จะไหลเข้าไปเผาไหม้ซ้ำในห้องเผาไหม้ที่สองซึ่งมีการจ่ายอากาศเข้าไปช่วยเผาไหม้ ทำให้มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000°C ซึ่งสูงเพียงพอสำหรับเผาทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ในขยะติดเชื้อได้ ก่อนปล่อยระบายสู่บรรยากาศ เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเย็นตัวลงแล้วสามารถนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไปหรือถมดินได้ สำหรับการควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ ออกแบบให้ใช้หัวเผาที่ใช้น้ำมันดีเซล โดยสามารถใช้กับน้ำมัน B10, B20 ได้จนถึง B100 หรือหากมีน้ำมันเครื่องใช้แล้วที่ผ่านการกรองแล้วก็สามารถนำมาใช้งานได้ หรือน้ำมันพืชที่ใช้ทอดแล้ว หรือน้ำมันเติมตะเกียงที่วัด ก็สามารถนำมาเติมได้เช่นกัน จึงทำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูง ประหยัดพลังงาน และไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้กับเตาเผาได้ เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจุดเด่น- ลักษณะเด่นของเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็กฯ ใช้งานง่าย เตาเผาขยะไม่ก่อมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเตาเผาขยะแบบแก๊สซิไฟเออร์ ใช้การเผาไหม้จากด้านล่างขึ้นบน ทำให้ไม่มีเขม่าควัน ลักษณะของเตาฯ จะประกอบด้วย
1. ระบบเผาไหม้ เป็นแบบ 2 ห้องเผาไหม้ โดยห้องเผาไหม้ที่ 1 เผาขยะติดเชื้อ และห้องเผาไหม้ที่ 2 เผาไหม้แก๊สที่เกิดจากห้องเผาไหม้ที่ 1
2. น้ำหนักประมาณ 280 กิโลกรัม และมีขนาดโครงสร้าง (กว้าง 1xยาว 1.5xสูง 2.5 เมตร)
3. เชื้อเพลิงที่ใช้ น้ำมัน B10-B100 หรือน้ำมันเครื่องใช้แล้วที่ผ่านการกรองแล้ว หรือน้ำมันพืชทอดใช้แล้วหรือน้ำมันเติมตะเกียงวัด
4. ใช้ไฟฟ้า 220 V กระแสไฟฟ้า 2 A. (370 W สามารถติดตั้งกับแผงโซลาเซลล์ได้)
5. อัตราการเผาไหม้ขยะ 13.5 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
6. ขณะเตาเผาทำงานสามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ที่หนึ่งไม่ตำกว่า 760°C และห้องเผาไหม้ที่สองไม่ต่ำกว่า 1,000°C
7. ขยะติดเชื้อที่สามารถเผาได้ หน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อที่เป็นพลาสติก PE เช่นชุด PPE
รศ.ดร.สมรัฐ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสภาวะ new normal ปัจจุบันนี้ มีการใช้งานหน้ากากอนามัยจนกลายเป็นอุปกรณ์ติดตัวทุกคน อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยใช้แล้วจัดเป็นขยะติดเชื้อเนื่องจากปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายและเชื้อโรค จำเป็นต้องมีการทิ้ง เก็บ ขน และกำจัด แยกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งด้วยปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ท้องถิ่นที่รับผิดชอบในการจัดการขยะติดเชื้อมีภาระในการจัดการที่เกินกว่ากำลังความสามารถที่จะรองรับได้ นอกจากนี้การขนส่งขยะติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดมีโอกาสที่ขยะติดเชื้อจะแพร่กระจายและเกิดอันตรายได้ โครงการนี้จึงมีแนวคิดในการออกแบบและสร้างเตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็ก เพื่อกำจัดหน้ากากใช้แล้ว ณ แหล่งกำเนิด เพื่อลดปัญหาที่กล่าวมาแล้ว และมีการควบคุมมลพิษต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนในการจัดสร้างเตาเผาดังกล่าวจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นอกจากนี้ยังมองว่า การขนส่งขยะติดเชื้อเพื่อไปกำจัดนอกมหาวิทยาลัยทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนขยะติดเชื้อในระหว่างขนส่ง เนื่องจากต้องควบคุมอุณหภูมิในระหว่างขนส่งให้ต่ำกว่า 10°C และต้องใช้ยานพาหนะที่ใช้สำหรับการขนขยะติดเชื้อเท่านั้น รวมถึงพนักงานที่ทำหน้าที่ในการขนส่งมีโอกาสในการปนเปื้อนเชื้อโรคระหว่างการปฏิบัติงาน การกำจัดขยะติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิด จึงเป็นการแก้ปัญหา ณ ต้นทาง และไม่เป็นการผลักภาระไปให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดการขยะติดเชื้อ เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็กมีการควบคุมการทำงานให้ไม่มีการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษอากาศและกากเถ้า นอกจากนี้ไม่มีน้ำเสีย สามารถนำน้ำมันทอดใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ได้ สามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้กับเตาเผาได้ ทำให้สามารถลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการเก็บขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่ที่สามารถนำไปใช้เป็นพื้นที่สีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็กฯ ขณะนี้กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรเตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่ต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสามารถติดต่อเพื่อนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันกำลังพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานร่วมกับพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในลักษณะของ hybrid incinerator ได้ รวมถึงการพัฒนาให้สามารถใช้งานกับเชื้อเพลิงเหลือใช้อื่น ๆ ที่หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ตามเตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วเหมาะกับการติดตั้งเพื่อกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ณ แหล่งกำเนิด เช่น โรงพยาบาลขนาดเล็ก สถานอนามัย สถานที่ราชการที่ให้บริการประชาชนจำนวนมาก ตลาด ศูนย์การค้า ซุปเปอร์มาเก็ต แหล่งท่องเที่ยว วัด สถานศึกษา มหาวิทยาลัย เป็นต้น หากหน่วยงานดังกล่าวต้องการสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยการเผากากของเสีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เว็บไซต์http://wirc.stri.kmutnb.ac.th อีเมล : srk@kmutnb.ac.th โทร. 02-555-2000 ต่อ 8324
เตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็กฯ ที่ใช้สำหรับเผาทำลายหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้ออื่น ๆ นั้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยลดขยะติดเชื้อ-แก้ปัญหามลพิษ รวมทั้งช่วยลดปริมาณขยะลงได้จำนวนมากอีกด้วย เพราะการเผาขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษหรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเองก็สำคัญเช่นกัน มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาตลอดพร้อม ๆ กับส่งเสริมให้ความรู้แก่บุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมด้านสิ่งประดิษฐ์นี้สามารถเข้ามาป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดียังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ