มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. มอบหุ่นยนต์ฉายรังสี UVC ฆ่าเชื้อไวรัส (โควิด-19) ให้กับ รพ.สนาม ที่ รร.นนทบุรีวิทยาลัย
News Date13 พฤษภาคม 2564
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 รศ.ดร. ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี, ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย อาจารยประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และคณะนักวิจัย พร้อมด้วย สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คุณมนัส ศรีวานิชภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแมกซ์แวลู เทคโนโลยี จำกัด และ สวทช. นำคณะนักวิจัยนวัตกรรม หุ่นยนต์ฉายรังสี UVC ฆ่าเชื้อไวรัส (โควิด-19) ไปสาธิตการใช้งานที่ โรงพยาบาลสนามในโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ประมาณ 700 เตียง โดยปรับห้องเรียนเป็นห้องพักดูแลผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้งส่งมอบหุ่นยนต์ให้กับ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ไว้ใช้งาน โดยมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม และรองนายก อบจ. ดร. วิภาวัลย์ วรวรรณปรีชา, ดร. เฉลิมพล นิยมสินธ์ เลขานุการนายก อบจ.นนทบุรี ร่วมเป็นผู้แทนรับมอบ ทั้งนี้คณะทำงานมีความตั้งใจที่จะนำผลงานจากการวิจัย ไปใช้งานจริงเพื่อช่วยเหลือประชาชน สังคมและประเทศชาติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และพร้อมต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาที่มีคุณภาพสร้างสรรค์และผลิตงานวิจัยเพื่อสู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้  
ในปัจจุบันเราต้องปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ใหม่ โดยเฉพาะระบบการทำความสะอาดสถานที่ ที่อยู่ในระดับของการฆ่าเชื้อโรคและฆ่าไวรัส เข่น ในโรงงาน โรงอาหาร หรือสถานที่ชุมชุนชน เป็นต้น ซึ่งมีบริเวณและมีความสูงมากพอสมควร เชื้อโรคและไวรัสสามารถที่ลอยกระจายในอากาศ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลอด UVC ที่มีผลงานวิจัยในการฆ่าเชื้อโรค และไวรัสได้ผลดี และคณะนักวิจัยจึงสนใจที่จะนำหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ด้วยการบังคับไร้สาย เพื่อลดความเสี่ยงของคนจากการทำร้ายของแสง UVC และยังมีความสามารถในการปรับความสูงให้เข้ากับห้องทรงสูงด้วยการยืดตัวขึ้นสูง โดยนำเทคโนโลยีที่มาใช้แบ่งตามหน้าที่การทำงานดังนี้
  1. หุ่นยนต์บังคับไร้สายด้วยสัญญาณ WIFI ที่ส่งสัญญาณการควบคุมมอเอตร์ในการเคลื่อนที่ และสามารถส่งสัญญาณภาพผ่านกล้องเพื่อความสะดวกในการควบคุม 2
  2. กลไกการยืดตัวสูงสองเท่าตัวด้วยวงจรควบคุมระทางและตำแหน่ง 3)
  3. เทคโนโลยีหลอด UVC ในการฆ่าเชื้อในระดับ DNA และมีความเข้มข้นสูงสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่ต้องการการฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้แก่ สถานศึกษา ศาสนสถาน  โรงพยาบาล ห้องปลอดเชื้อ เป็นต้น การขยายผลให้ยกระดับสาธารณสุขใหม่ ส่งผลกระทบให้มีการพิจารณาวิธีการใช้แสง UVC  ในการฆ่าเชื้อโรค และไวรัสต่างๆ  
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ตระหนักถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เป็นตัวช่วยของบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-555-2000 ต่อ 1604
พัทธนันท์/ข่าว