มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ.ร่วมกับ กระทรวง อว. ส่งทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot และเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้าพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ตึก สตง. ถล่ม
News Date31 มีนาคม 2568
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. แชมป์โลก 10 สมัย เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง โครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ควบคุมโดย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. จะนำหุ่นยนต์ฯ สำรวจภารกิจในพื้นที่อาคารถล่มร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยนำหุ่นยนต์สำรวจ จำนวน 3 ตัว เข้าร่วมภารกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน ในขณะที่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย มาพร้อมแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ และมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน  อีกทั้งยังนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยีการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ โดยดำเนินการนำอากาศยานไร้คนขับ DJI Mavic 3 Enterprise ซึ่งเป็นโดรนที่มีศักยภาพสูง มีกล้องที่ให้ความละเอียดสูงและฟังก์ชันการซูมระยะไกล เพื่อใช้ในการสำรวจขอบเขตของความเสียหายจากแผ่นดินไหว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคาร รวมถึงแนวทางการบูรณะและซ่อมแซมต่อไป
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง และร่วมกันส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ประสบภัยในครั้งนี้
ติดต่อนวัตกรรม มจพ. รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร. 096-829-5353 และ ผศ.ดร.จิรพันธ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร.099-023-6920
พัทธนันท์/ข่าว
คณะวิศวกรรมศาสตร์/ข้อมูล