ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ นายเทพ เทพวัฒนปิยกุล ผู้จัดการภาคพื้นประจำประเทศไทย บริษัท เอ็นดีที อินสตรูเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามในพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “แผ่นตรวจเช็คทิศทางสนามแม่เหล็ก” และ “แผ่นตรวจสอบความไวของน้ำยาแทรกซึม” ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับ บริษัท เอ็นดีที อินสตรูเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา แก้วมณี ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี ไทย-ฝรั่งเศส มจพ. นายณัฐกร หิรัญมาศ ผู้จัดการฝ่ายขาย นายชฎิลรัตน์ วิชาธิ วิศวกรฝ่ายขาย บจ.เอ็นดีทีฯ เป็นพยาน
“แผ่นตรวจเช็คทิศทางสนามแม่เหล็ก” เป็นการออกแบบสร้างแผ่นตรวจเช็คทิศทางของสนามแม่เหล็ก เพื่อใช้เป็น Reference block ในการทวนสอบความแรงของสนามแม่เหล็กและทวนสอบสอบทิศทางของจุดบกพร่อง ในการตรวจสอบหาจุดบกพร่องที่ผิวหน้ารอยเชื่อมด้วยวิธีการตรวจสอบแบบอนุภาคแม่เหล็ก สามารถใช้ทดแทนแผ่นตรวจเช็คทิศทางสนามแม่เหล็กจากต่างประเทศได้ ในส่วนของ “แผ่นตรวจสอบความไวของน้ำยาแทรกซึม” เป็นการออกแบบสร้างแผ่นตรวจสอบความไวของน้ำยาแทรกซึม เพื่อใช้เป็น Reference block สำหรับทวนสอบคุณภาพของน้ำยาแทรกซึม ในการตรวจสอบชิ้นงานเชื่อมเพื่อหาจุดบกพร่องที่ผิวหน้าแนวเชื่อมด้วยวิธีการตรวจสอบด้วยสารแทรกซึม ด้วยเทคนิคแบบเรืองแสงและแบบมองเห็นด้วยตาเปล่า สามารถใช้ทดแทนแผ่นตรวจสอบความไวของน้ำยาแทรกซึมที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยทั้ง 2 ผลงานเป็นผลงานของ นายสมศักดิ์ ปามึก ฝ่ายเทคโนโลยีงานเชื่อม สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนอนุสิทธิบัตรไว้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 เลขที่ 12767 และ 12766 ตามลำดับ
อนึ่ง บริษัท เอ็นดีที อินสตรูเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นในปี 1993 โดยมีพันธกิจในการจัดหาผลิตภัณฑ์คุณภาพ การบำรุงรักษาหลังการขาย ให้บริการลูกค้าในด้านของการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย การทดสอบ (NDT) การประกันคุณภาพ และการควบคุม (QA / QC) ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดยบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีสาขาในอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย
พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลงานทรัพย์สินทางปัญญาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานการประดิษฐ์คิดค้นและการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม 212 อาคารสำนักวิจัยฯ มจพ. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562