มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผนึกกำลัง 12 หน่วยงาน จัดตั้งภาคีความร่วมมืออวกาศไทย
News Date07 เมษายน 2564
ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการ (รักษาการ) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี โดยมีหน่วยงานร่วมลงนาม 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้ 1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 2. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 3. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 6. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 7. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 8. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 10. มหาวิทยาลัยมหิดล 11. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 12. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ เรียนรู้ ลงมือทำโดยตรง ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย รวมถึงออกแบบและสร้างอุปกรณ์เพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น กล้องถ่ายภาพที่มีความสามารถในการถ่ายภาพในหลายความยาวคลื่น สามารถประยุกต์ใช้กับด้านการเกษตร การใช้พื้นที่ของประชากร และกระบวนการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย
ทั้งนี้ มจพ. มีประสบการณ์ในการส่งดาวเทียม knacksat ขึ้นสู่วงโคจรอวกาศ และได้จัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนภารกิจด้านอวกาศของมหาวิทยาลัย และยังร่วมผลักดันให้บัณฑิตที่เข้าร่วมโครงการอวกาศของเราได้จัดตั้งบริษัท start-up โดยมีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการเดินหน้าเพื่อร่วมสร้างอุตสาหกรรมอวกาศไทยขึ้นภายในประเทศ และได้ปักธงนี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของมหาวิทยาลัย โครงการอวกาศอาจดูเหมือนเป็นภารกิจที่ยาก แต่เพราะว่ามันยากเราถึงอยากทำให้สำเร็จ มหาวิทยาลัยขอขอบคุณหน่วยงานที่จัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือนี้ และพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อสร้างอุตสาหกรรมอวกาศให้เกิดขึ้นจริงและเติบโตเป็น Growth Engine ใหม่ของประเทศไทย
พัทธนัน/ข่าว
ขอขอบคุณภาพจาก อว.