มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. ส่งมอบ 2 นวัตกรรมหุ่นยนต์ให้แก่ บ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)
News Date12 ตุลาคม 2564
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีส่งมอบนวัตกรรม “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอยฆ่าเชื้อโรคและไวรัส” และ “หุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. ส่งมอบนวัตกรรมให้แก่ คุณอภิชาติ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมร่วมกัน ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือทางวิชาการให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ผ่านโครงการสหกิจศึกษา งานวิจัย และการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสององค์กร นวัตกรรมหุ่นยนต์ทั้งสองตัวนี้ เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร. ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย และทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอยฆ่าเชื้อโรคและไวรัส มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอย ละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน สามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน น้ำยาเคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตัวส่งจะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน 2) มีตัวรับวิทยุ ทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับและจะส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ และสามารถปรับความเร็วและความแรงของลมให้มากน้อย ตามความเหมาะสมของสถานที่ ในส่วนของหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มีประสิทธิภาพในการสามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อโควิด-19 ด้วยรังสียูวีซี ควบคุมด้วยระบบสัญญาณคลื่นวิทยุ ใช้การบังคับด้วยรีโมทคอนโทรลที่ออกแบบระบบวงจรขึ้นเอง เป็นการฆ่าเชื้อที่อาศัยเทคนิค UVGI ใช้เวลาน้อย ให้ปริมาณรังสีสูง เพียงพอกับการทำลายเชื้อ COVID-19 ได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัยที่จะสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป ในการนี้มีคณะผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสององค์กรเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุม 215 อาคารอเนกประสงค์ มจพ. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564
พัทธนันท์/ข่าว
วุฒิสิทธิ์-สมเกษ/ภาพ