มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
มจพ. แถลงข่าว ผลการส่งดาวเทียมแนคแซท ดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกขึ้นสู่วงโคจร
News Date18 ธันวาคม 2561
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน  อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้การต้อนรับ ฯพณฯ ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นประธานในการแถลงข่าว ผลการส่งดาวเทียมแนคแซทขึ้นสู่วงโคจร และให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรให้กับทีมนักวิจัยโครงการดาวเทียมแนคแซท ในการส่งดาวเทียม ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามวันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จรวดฟอลคอน 9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ภายใต้มิชชั่น SSO-A ของบริษัทสเปซไฟล์ท ได้ส่งดาวเทียมแนคแซทพร้อมด้วยดาวเทียมอื่นๆ รวมทั้งหมด 64 ดวงจากทั้งหมด 17 ประเทศ ขึ้นสู่วงโคจรประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การส่งจรวดครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยส่งจากฐานยิงจรวดของฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg Air Force Base) ประเทศสหรัฐอเมริกา การปล่อยเพย์โหลดออกจากหัวจรวดเริ่มดำเนินการหลังจากจรวดทะยานขึ้นไปแล้ว 43 นาที 11 วินาที ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธ.ค. เวลา 19:32น. ตามเวลาสากล (หรือวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 02:32น. ตามเวลาในประเทศไทย) เพย์โหลดประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ปล่อยดาวเทียม 2 ชุดมีชื่อว่า Upper Free Flyer (UFF) และ Lower Free Flyer (LFF) และดาวเทียมหลักของมิชชั่น SSO-A อีก 4 ดวง จากนั้น UFF และ LFF เริ่มทำการปล่อยดาวเทียมที่เหลือทุกๆ 5 นาที ใช้เวลารวมในการปล่อยทั้งหมดมากกว่า 5 ชั่วโมง การปล่อยแต่ละครั้งมีความจำเป็นต้องเว้นระยะเวลาการปล่อย โดยดาวเทียมแนคแซทถูกปล่อยออกจาก LFF ณ. วันที่ 3 ธ.ค. เวลา 22:49:57UTC (ตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 05:49:57น. ตามเวลาในประเทศไทย)
สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้ครั้งแรก (First Voice) โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อว่า Mike Rupprecht ชาวเยอรมัน ในวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 09:04น ตามเวลาสากล (ตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 14:04น. ตามเวลาในประเทศไทย) เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทได้เริ่มต้นปฎิบัติงานในอวกาศแล้ว โดยนักวิทยุสมัครเล่น รับสัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทได้อีกครั้งในเวลา 10:41น ตามเวลาสากล (ตรงกับเวลา 17:41น. ตามเวลาในประเทศไทย) ในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 02:52น ตามเวลาสากล (ตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 07:52น. ตามเวลาในประเทศไทย) และวันที่ 7 ธ.ค. เวลา 15:04น ตามเวลาสากล (ตรงกับวันที่ 7 ธ.ค. เวลา 22:04น. ตามเวลาในประเทศไทย) สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อว่า Fatc Mubin ชาวอินโดนีเซีย นับเป็นความสำเร็จของดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทย โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์จาก มจพ. ความสำเร็จของโครงการดาวเทียมแนคแซทนี้จะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง และประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในการนี้มีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และหน่วยงานเอกชนที่อยู่ในโครงการความร่วมมือดาวเทียมแนทแซท พร้อมทั้งสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561
ติดตามข่าวสารของดาวเทียมแนคแซทได้จาก http://www.knacksat.space/  และเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ @ KNACKSAT
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://knacksat.space
http://spaceflight.com/sso-a/
http://spaceflight.com/spaceflight-successfully-launches-64-satellites-on-first-dedicated-rideshare-mission/
https://www.spacex.com/falcon9
https://www.flickr.com/photos/spacex
https://amsat-uk.org
http://www.amsatuk.me.uk/iaru/finished_detail.php?serialnum=520
http://www.rast.or.th
https://spaceflightnow.com/2018/12/03/timeline-of-falcon-9s-launch-on-the-sso-a-mission/
https://directory.eoportal.org/web/eoportal/satellite-missions/content/-/article/sso-a

    พัทธนันท์/ข่าว
   สมเกษ,ชัยอนันต์,ศศิกัญญา/ภาพ