มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. ขับเคลื่อนโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในต้นทุนที่เหมาะสม นำร่อง จ.กำแพงเพชร โดยได้รับทุนวิจัยจาก วช.
News Date15 มีนาคม 2564
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐานและอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนงานวิจัยการจัดการภัยแล้ง ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำในต้นทุนที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผันน้ำตามความต้องการไม่ปล่อยน้ำเกินความจำเป็น คาดการณ์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ควบคู่กับข้อมูลจากวัดความชื้นในดินของพื้นที่เกษตรกร และระดับน้ำของแม่น้ำต่างๆ พร้อมระบบควบคุมการปล่อยน้ำได้ทันสถานการณ์ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง โดยมีนายสุทธิชัย ไพรสันต์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สำนักชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม ไปยังสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องวัดความชื้นดินในพื้นที่แปลงนาข้าวของเกษตรกร ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โดยงานวิจัยนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยใช้ตัดสินใจระบายน้ำที่เหมาะสมโดยเชื่อมโยงกับแบบจำลองการประเมินความต้องการน้ำของพืชในระบบแปลงนาที่ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินแบบอัตโนมัติ ลดการสูญเสียจากการส่งน้ำเกินความจำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกหรือลดการสูญเสียน้ำในระบบชลประทานได้ จากการติดตั้ง 120 จุดได้ผลเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ และเกษตรกรในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างมาก พร้อมทั้งมีการขยายต่อยอดโครงการนี้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง และคณะทำงาน พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าร่วมในการสาธิตโดยนำแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นไปใช้งานจริงในพื้นที่ต้นแบบ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการแจ้งเตือนระดับความชื้นดินรายวันแบบอัตโนมัติผ่านทางแอปพลิเคชัน Line ประมวลผลเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี สร้างความรู้ ความเข้าใจต่อเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยแก่บุคลากรกรมชลประทานและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564
พัทธนันท์/ข่าว
วช./ภาพ