มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. จัดสัมมนาแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุฉุกเฉินจากความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพอากาศ
News Date28 มิถุนายน 2566
ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ “แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุฉุกเฉินจากความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพอากาศ” จัดโดย The Active ร่วมกับ ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ อาทิ คุณทองเปลว กองจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในหัวข้อ บริหารจัดการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ต่อภาวะฉุกเฉินสถานการณ์น้ำ คุณชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ในหัวข้อ การคาดการณ์น้ำล่วงหน้าเพื่อการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินสถานการณ์น้ำ และ ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ สรุปในองค์รวม ดำเนินรายการโดย คุณนิตยา กีรติเสริมสิน พิธีกรข่าวจากช่องไทยพีบีเอส ทั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมนาเป็นจำนวนมาก ณ ห้องชนกนันท์ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566
โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. ได้ร่วมกับ จังหวัดนครสวรรค์ และ DHI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์ รวมถึงการพยากรณ์น้ำจากประเทศเดนมาร์ก จัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์ที่มีความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ” จากการเห็นความสำคัญและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งทำให้สถานการณ์น้ำในแต่ละปีมีความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน การสูญเสียรายได้ในภาคเกษตรกรรม การสูญเสียงบประมาณไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการชดเชยเยียวยาในพื้นที่น้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ซึ่งล้วนแต่เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัดและระดับประเทศ
จากผลการคาดการณ์น้ำล่วงหน้า 5 ปี โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. สามารถเป็นแนวทางในการรับมือและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้งรุนแรง เพื่อจัดการกับความผันผวนอย่างสุดขั้ว ซึ่งในภาวะเอลนิโญของปีนี้ ได้ส่งผลให้เกิดฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ถึงแม้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานยังคงมีน้ำสนับสนุนการเกษตรในปีนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา 2565 เป็นปีน้ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงจะเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกล่าช้าและไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง และจากแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเผชิญกับความผันผวนของปริมาณน้ำ ที่มีโอกาสจะแล้งต่อเนื่องและเกิดภัยแล้งหนักในปี 2568 ก่อนที่จะสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติและน้ำมากอีกครั้งในปี 2569 และ 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่าในรอบ 5 ปีข้างหน้า พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานจะสามารถเพาะปลูกนาปีได้เฉลี่ย 6.4 ล้านไร่ และนาปรัง 3.1 ล้านไร่ และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การรวม 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงร้อยละ 32 ในต้นฤดูแล้งกรณีที่มีการเพาะปลูกสูงสุด (worst case) จากสถานการณ์ดังกล่าว การปรับตัวเพื่อเตรียมการรับมือภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งโดยการใช้ข้อมูลน้ำคาดการณ์ สู่การขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานปฏิบัติสู่ประชาชน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และการผลักดันภาคการเกษตรตามแนวทาง BCG Model เพื่อกระจายนโยบายให้เกิดการปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนักรู้และตื่นตัว เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวจากสถานการณ์น้ำในสภาพปัจจุบันให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด
พัทธนันท์/ข่าว-ภาพ