ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล ราษฎร์นุ้ย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และได้สอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จนสำเร็จปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จาก University of Wales, Swansea, ประเทศอังกฤษ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการต่าง ๆ ตลอดจนให้การบริการวิชาการในรูปแบบที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการสมาคมไทรโบโลยีและการหล่อลื่นไทย (TTA: Thai Tribology Association) ผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาจารย์พิเศษ หลักสูตรบัณฑิตศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) บริษัทโปรดัคติวิตีแอสโซซิเอท จำกัด ยังได้รับรางวัลคุณภาพผลงานมากมาย อาทิ ทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก (Post Doctoral Research) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทุนสนับสนุนการวิจัยของมูลนิธิ Electro-Mechanic Technology Advancing Foundation (EMTAF) ประเทศญี่ปุ่น เมธีวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และวิทยากรดีเด่นของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (สสท.) นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน "ไตรโบโลยีของชิ้นส่วนเครื่องจักร" (วิศวกรรมการหล่อลื่นและการสึกกร่อนของชิ้นส่วนเครื่องจักร/เครื่องยนต์) เป็นที่รู้จักกว้างขวางระดับแนวหน้าของประเทศ โดยมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติและการนำเสนอผลงานในงานประชุมทางวิชาการในระดับสากลมากกว่า 70 ผลงาน และมีสิทธิบัตรในระดับสากล จำนวน 4 ผลงาน
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล ราษฎร์นุ้ย กล่าวว่า “...เมื่อมารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ “หน้าที่” ตามที่ระบุคือต้องสอน วิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีคติประจำใจคือ “ครองงาน ครองตน ครองคน และครองเรือน” ความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงเกียรติยศต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง ต้อง “อยู่กับสิ่งที่มี อย่าอยู่กับสิ่งที่ฝัน” ดังนั้นหาหัวข้อวิจัยที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก็สามารถนำไปสู่การค้นพบ และการนำไปต่อยอดจนสามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสาร ระดับควอไทล์ (Quartile) ที่ 1 ได้ อยู่ตรงที่จะสามารถมองเห็นช่องทางที่ทำงานวิจัยที่ “ไม่ยากแต่มีคนสนใจจำนวนมาก” ออกไหม? การที่จะมองลักษณะของปัญหาแบบนี้ได้ต้องศึกษาจากตำรา อ่านบทความมากมาย และสามารถนำไปสู่การ “ตกผลึก” ของความคิด และท้ายที่สุดก็จะพบหนทางที่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดสร้างสรรค์ผลงานในระดับสากลได้...”
แนวทางในการขอเสนอตำแหน่งทางวิชาการ อ่านตำรา และบทความในสาขาวิชาที่จะทำผลงานวิจัย ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทจะมีช่องทางที่แต่ละบุคคลมองเห็น อาจมองเป็น 4 ช่อง คือ งานที่ง่ายคนอื่นไม่สนใจ งานที่ง่ายคนอื่นสนใจมาก งานที่ยากคนอื่นสนใจมาก และงานที่ยากแต่ไม่มีคนสนใจมาก ถ้าอาจารย์หรือผู้ที่ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ทำงานวิจัยที่ยากคนอื่นสนใจเป็นจำนวนมาก เชื่อได้ว่าจะเป็นงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์แน่นอน งานวิจัยที่ทำได้ง่ายคนอื่นสนใจเป็นจำนวนมาก อาจจะใช้เวลานิดเดียว แต่กว่าจะตกผลึกทางความคิด ต้องอ่านหนังสือ เมื่อตกผลึกระยะเวลาหนึ่ง จะพบว่าช่องทางไหนสมควรทำ ช่องไหนไม่สมควรทำ เช่น เมื่อศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าเป็นช่องที่ง่ายแต่คนอื่นไม่ทำ ควรเลิกทำ เพราะไม่ได้ตีพิมพ์แน่เพราะมันง่ายและประเด็นไม่น่าใจ ในทางกลับกันหากข้อมูลเป็นที่สนใจและเป็นช่องที่ง่าย รวมถึงมีคนสนใจจำนวนมากนั้นคืองานวิจัยที่เริ่มได้เลย
สำหรับการจัดสรรเวลาทั้งในเรื่องของเวลาการขอผลงาน การสอน วิจัย และบริการวิชาการอื่น ๆ ประกอบไปด้วย ครองงาน คือ ต้องทำหลาย ๆ อย่างไปให้ได้พร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้ “ครองงาน” งานวิจัยจึงได้เริ่มต้นขึ้นและนำมาใช้สอนนักศึกษาและขอตำแหน่งทางวิชาการไปในตัว ได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอกจาก สกว. ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากมูลนิธิโทเร สองรอบ ทุนเมธีวิจัย สกว. สามรอบ ทุนสนับสนุนงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สกว. (ฝ่าย 5) ได้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศของมูลนิธิ EMTAF (Electromotive Technology Advancement Foundation) ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ครองตน นั้นครูบาอาจารย์ควรประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักศึกษา ครองคน ควรให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตาต่อเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา อาทิ นักศึกษาของผมทุกคนควรต้องพูดคำว่า “ขอโทษ ขอบคุณและไม่เป็นไร” ให้ติดปากเสมอเพราะ “ผมเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามในระดับสากล และนี่คือการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่อาจารย์ควรชี้นำนักศึกษาของเราให้ได้” และสิ่งสุดท้ายคือการ ครองเรือน คือควรใส่ใจต่อคนรอบข้างในครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งของเราให้มีความสุขกายสบายใจตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจและอาจารย์สามารถใช้ช่องทางงาน Project ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ โดยสามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ระดับควอไทล์ (Quartile) ที่ 1 ได้ ถ้ามอบหมายให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกทำ กระบวนการดำเนินงานก็ค่อนข้างที่จะซับซ้อน ระยะเวลาที่งานจะแล้วเสร็จใช้เวลา 4 ปี ถ้าคิดงานวิจัยออกและให้นักศึกษาปริญญาตรี ระยะเวลา 4 เดือน ก็แล้วเสร็จ และนำไปต่อยอดแล้วไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ในช่วงระยะ 4 ปี อาจารย์ มี Project มอบหมายให้นักศึกษา 4 คน จะมีผลงานจำนวน 20 เรื่องใน 1 ปี ก็ได้งานวิจัย แต่ก็ไม่ได้ง่ายทุกเรื่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของอาจารย์แต่ละท่าน เช่น อ่านตำรา-หนังสือมาก ๆ ให้ตกผลึก และใส่ใจในเหตุการณ์ในสาขา คณะ ส่วนสาขาวิชาที่ทำตำแหน่งนี้ได้รู้ว่า มีใคร ทำงานวิจัยอะไรบ้าง ได้รู้เรื่องงานว่า สาขาวิจัยที่อะไรทำง่าย มีคนสนใจมาก
แรงบันดาลใจเกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก ศาสตราจารย์ ดร.ไบรอัน รอยแลนซ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับนำของโลกในด้านไตรโบโลยีโดยเฉพาะการวิเคราะห์เศษโลหะจากการสึกกร่อน อาจารย์ผมท่านสอนผมว่า “การจบการศึกษาไม่ว่าระดับใดหาใช่จุดสูงสุดของชีวิต แต่เป็นจุดต่ำสุดของชีวิต” เพราะต่อจากนี้ไปผมต้องหาทางสร้างชื่อเสียงเกียรติยศต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตนเอง ทำให้ผมต้องคิด ขีดเขียน ค้นคว้า ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมาตลอด จนมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับนานาชาติและการนำเสนอผลงานในงานประชุมทางวิชาการในระดับสากลไม่ต่ำกว่า 70 ผลงาน และมีสิทธิบัตรในระดับสากลจำนวน 4 ผลงาน
อุปสรรคและความยากสำหรับผม “ไม่ซับซ้อน” อาจารย์จบใหม่ ๆ ต้อง “อยู่กับสิ่งที่มี อย่าอยู่กับสิ่งที่ฝัน” ความหมายคือใน มจพ. และประเทศชาติของเราคงไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสูงมากนักเหมือนตอนที่เราเคยได้ไปศึกษามาโดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น เราควรต้องหาหัวข้อวิจัยที่สามารถใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดแต่สามารถนำไปสู่การค้นพบในสิ่งที่จะสามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสารระดับควอไทล์ที่ 1 ให้ได้ ในบางกรณีหากจะดีคือสามารถให้นักศึกษาปริญญาตรีเริ่มทำเป็นโปรเจ็คและอาจารย์สามารถนำไปต่อยอดเพิ่มเติมจนสามารถนำไปตีพิมพ์ได้จะดีมากเพราะใช้เวลาแค่ไม่เกินหนึ่งปีและใช้ทรัพยากรไม่มาก อยู่ตรงที่อาจารย์จะสามารถมองเห็นช่องทางที่ทำงานวิจัยที่ “ไม่ยากแต่มีคนสนใจมาก” ออกไหม? คนที่จะมองปัญหาแบบนี้ออกต้องอ่านตำรา บทความเยอะ ๆ และสามารถนำไปสู่การ “ตกผลึก” ของความคิดและท้ายที่สุดเราก็จะพบหนทางที่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดที่เรามี สร้างสรรค์ผลงานในระดับสากลได้ ขอแนะนำว่า “คนเราเห็นอะไร ๆ ได้ยินอะไร ๆ และสัมผัสอะไร ๆ ได้เหมือนกันก็จริง แต่คนเราจะคิดได้ไม่เหมือนกัน” อย่างเช่น การทำงานวิจัยเคยประสบกับปัญหา ในบางเงื่อนไข บางประเด็นที่มองภาพไม่ออก เพราะปัญหาที่ง่าย-ยากไม่เท่ากัน การทำวิจัยข้ามสาขาวิชาหรือการเชื่อมโยง การบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานภายใน สามารถตอบโจทย์ได้ ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรถือได้ว่าเป็นวันที่ได้เปิดโลกกว้าง การทำงานวิจัยข้ามสาขาก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ได้ผลงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพ ตลอดจนได้มีเพื่อนใหม่ ๆ การได้พูดคุย ได้เปิดโลกทัศน์ของเรา เปิดความคิด ไม่อยู่แต่ในตำรา
สิ่งประทับใจในรั้วเล็ก ๆ ระดับภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ผมสังกัดคือ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีความสุขในการทำงาน หากปราศจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าภาควิชาที่ดีที่เอื้อเฟื้อสถานที่ ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณและกำลังใจเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้ผมเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการคิดประดิษฐ์คิดค้นงานวิจัยต่าง ๆ ด้าน “ไตรโบโลยี” ออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 25 ปี ในรั้ว มจพ.
ข้อคิดให้น้อง ๆ อาจารย์ที่จะมาเป็นคลื่นระลอกใหม่ของ มจพ. คือ อาชีพอาจารย์นี้นับว่าแปลกที่สุดคือ มีตำแหน่งศาสตราจารย์รออาจารย์ทุกคนอยู่ ไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่นที่มีตำแหน่งสูงสุดรออยู่แค่ตำแหน่งเดียวหรืออย่างมากไม่เกินสามถึงสี่ตำแหน่ง ดังนั้นอย่าได้ไปแข่งอะไรกับใคร ต้องคิดแข่งกับตนเองก็พอแล้วและอย่าเอาความสำเร็จของตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพราะความสำเร็จเป็น “นามธรรม” แต่ละคนมีระดับความสำเร็จที่ตั้งไว้ในใจไม่เท่ากัน ความสำเร็จจะมาในลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์รุ่นใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์งานวิจัยและอยากขอให้อาจารย์สร้างสมดุลในเรื่องหน้าที่การงานและครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน มันอาจจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลยหากเราประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานแต่ไม่สามารถหยิบยื่นความสุขให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดรอบข้างอันเป็นที่รักของเราและที่เขาก็รักเรามากในเวลาเดียวกัน
ในโอกาสวาระพิเศษนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล ราษฎร์นุ้ย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศึกษาด้าน "ไตรโบโลยีของชิ้นส่วนเครื่องจักร" มีความมุ่งมั่น นำองค์ความรู้ ความสามารถด้านงานวิจัยและประสบการณ์ด้านวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตร์ นับเป็นเกียรติประวัติที่มีคุณค่าเคียงคู่มหาวิทยาลัยสืบไป
ขวัญฤทัย ข่าว / สมเกษ ภาพ