มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :

โครงการวิจัยและประเมินการรับแรงกระแทกอุปกรณ์ชิ้นส่วนในรถพยาบาล

28 พฤศจิกายน 2561
สืบเนื่องจาก มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยรถพยาบาล (European Standard EN 1789) ได้ระบุข้อกำหนดต่างๆ เพื่อใช้ในการออกแบบ การทดสอบ และสมรรถนะ เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือคนไข้โดยใช้รถพยาบาล  ข้อกำหนดดังกล่าวจะเน้นที่อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งอุปกรณ์การจับยึดซึ่งจะต้องสามารถทนต่อแรงที่เกิดจากอัตราเร่งหรือหน่วงได้ถึง 10 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก (10 G) ในทิศทางด้านหน้า หลัง บน และ ล่างของรถพยาบาล  อย่างไรก็ตาม การวิจัยเพื่อทำทดสอบหรือประเมินการจับยึดอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลสำหรับยังไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรของรัฐรวมทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทยสามารถทำได้ เนื่องจาก รูปแบบและโครงสร้างของการจับยึดอุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องสะท้อนสภาวะการถ่ายแรงกระแทกจากอัตราเร่งหรือหน่วงภายในรถพยาบาลได้จริง
ดังนั้น โครงการวิจัยเพื่อหาวิธีการทดสอบและประเมินการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นส่วนของรถพยาบาลได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” ขั้นตอนการทำวิจัยนี้ประกอบไปด้วย
  1. การพัฒนารูปแบบการทดสอบที่สามารถสะท้อนการถ่ายแรงกระแทกจากอัตราหน่วงภายในรถพยาบาลโดยใช้ เทคนิคของการทดสอบการชนของรถยนต์ทั้งคันที่สอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินคุณภาพความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ (New Car Assessment Program, NCAP)
  2. การออกแบบก่อสร้างแท่นรับแรงกระแทกสำหรับการทดสอบการชนตามมาตรฐานสากลสำหรับประเมินชิ้นส่วนยานยนต์
  3. การออกแบบชุดลากจูงและชุดปลดล็อกเพื่อใช้ในการส่งกำลังในการขับเคลื่อนตัวรถทดสอบให้มีความเร็วที่กำหนดและตัดการส่งกำลังให้รถทดสอบมีความเร็วก่อนชนแท่นรับแรงกระแทก
  4. การกำหนดรูปแบบการประเมินและการตรวจสอบลักษณะการจับยึดอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลทั้งก่อนและหลังทำการทดสอบ โดยใช้เครื่องมือในทางวิศวกรรม
  5. ข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณภาพอุปกรณ์ชิ้นส่วนของรถพยาบาล 

ด้วยระยะเวลาในการทำวิจัย 4 เดือน โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ต้นปี 2018 ผลลัพธ์ (Output) ของการวิจัยของโครงการดังกล่าวทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัย และบริษัทผู้ผลิตรถพยาบาลภายในประเทศที่ร่วมโครงการ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
  1. การพัฒนารูปแบบของแท่นรับแรงกระแทกบนพื้นฐานของข้อจำกัดทางด้านงบประมาณทำให้การออกแบบและจัดสร้างสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ดังนั้นการออกแบบและการควบคุมการก่อสร้างจึงมีความสำคัญ
  2. การสร้างรูปแบบของทดสอบการชนหน้าเต็มทั้งคันสามารถใช้ในการประเมินคุณภาพ การจับยึดชิ้นส่วนทางการแพทย์ได้ เนื่องจากแรงกระแทกจากการชนหน้าเต็มของรถพยาบาลด้วยความเร็ว 31.03 กม.ต่อ ชม. สามารถสร้างอัตราหน่วงได้สูงสุดถึง 28.5 G ที่บริเวณเตียงของคนไข้โดยใช้เครื่องมือวัดอัตราหน่วงแบบไร้สายที่มีการสอบเทียบค่าจากโรงงานผู้ผลิต ดังนั้น ผลของการวัดอัตราหน่วงจากการทดสอบนี้ที่สามารถเทียบเคียงกับการทดสอบการชนเยื้องศูนย์ของการทดสอบรถยนต์นั่งตามมาตรฐาน NCAP ที่ความเร็ว 64 กม.ต่อ ชม.
  3. ปัจจัยจากระดับผิวถนน พร้อมทั้งความสมบูรณ์ของช่วงล่างของรถทดสอบมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของรถเมื่อใช้ระบบลากจูงและปลดล็อกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ตำแหน่งเริ่มต้นและความดันของ ลมยางในรถทดสอบแต่ละล้อจึงมีความสำคัญต่อความแม่นยำในการให้รถทดสอบถูกลากจากตำแหน่งเริ่มต้นที่ระยะ 150 เมตรก่อนถึงแท่นรับแรงกระแทก ด้วยเหตุนี้เอง ระบบรางควบคุมให้รถทดสอบชนแท่นรับแรงกระแทกจึงมีความสำคัญซึ่งจะต้องอาศัยงบประมาณนอกเหนือจากโครงการวิจัยนี้ ในการพัฒนาก่อสร้างเพื่อสร้างห้องทดสอบการชนอย่างสมบูรณ์
  4. โครงการวิจัยนี้ ด้วยงบประมาณที่จำกัด ชุดต้นกำลังจะมาจากใช้รถกระบะขับเคลื่อนผ่านสายสลิงและชุดปลดล็อกเพื่อลากจูงรถทดสอบ ดังนั้น ความเร็วสูงสุดที่ทำได้มีข้อจำกัดเนื่องจากระยะทางในการลากจูงก่อนถึงแท่นรับแรงกระแทกอยู่ที่ 150 เมตร เช่นเดียวกับงบประมาณที่จำเป็นในการวิจัยพัฒนาระบบรางควบคุม การออกแบบต้นกำลังที่สามารถควบคุมความเร็วได้ตามที่กำหนดและสามารถทำซ้ำได้จึงมีความสำคัญ
  5. ในโครงการวิจัยนี้ การประเมินอุปกรณ์จับยึดอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถพยาบาล จะใช้เครื่องมือวัดแรงบิดในการขัดยึดสกรูมาตรฐานให้ได้ค่าตามที่กำหนดพร้อมป้ายสีเพื่อตรวจสอบการคลายตัวของสกรูหลังจากรับแรงกระแทก ผลของการทดสอบสรุปได้ว่า สกรูและอุปกรณ์จับยึดกับโครงสร้างของรถพยาบาล สามารถทนรับแรงกระแทกโดยไม่เกิดการคลายตัวที่สกรูดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ที่นั่งภายในรถพยาบาลคันที่ทดสอบเกิดความเสียหายซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยผู้โดยสารในรถพยาบาล ดังนั้น แนวทางการออกแบบพัฒนาเก้าอี้ที่นั่งในขณะรับแรงกระแทกดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในนวัตรกรรมของคนไทยที่สามารถลดการนำเข้า สร้างองค์ความรู้ และมีเหตุผล  

ผลลัพธ์ (Outcome) ของการทำการวิจัยนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการประเมินคุณภาพของชิ้นส่วนยานยนต์ในขณะรับแรงกระแทกนอกเหนือจากการทดสอบในสภาวะสถิตในห้องปฎิบัติการ อีกทั้งการสร้างนวัตกรรมที่เป็นของคนไทยจากการออกแบบพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ที่คำนึงความปลอดภัย และการบาดเจ็บของผู้โดยสารเป็นหลัก องค์ความรู้พื้นฐานและการประยุกต์พัฒนาเครื่องทดสอบการชนรถยนต์จะเป็นภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีของคนไทยบนงบประมาณที่เหมาะสมและลดการนำเข้าเครื่องทดสอบที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี