มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
ดาวเทียม KnackSat
News Date13 พฤษภาคม 2562

ดาวเทียม KnackSat

 

 
 


 

KnackSat  อ่านว่า แนคแซท (ย่อมาจาก KMUTNB Academic Challenge of Knowledge SATellite) ดาวเทียมฝีมือคนไทยทั้งหมดดวงแรก เป็นดาวเทียมรูปแบบคิวแซท (CubeSat) ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ดาวเทียมใช้ความถี่วิทยุสมัครเล่น (Call sign: HS0K, Downlink Freq: 435.635 MHz) เพื่อการสื่อสารระหว่างสถานีดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นดิน โครงการแนคแซทได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของโครงการแนคแซทสามารถแบ่งออกเป็นวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาและวัตถุประสงค์ในการสาธิตเทคโนโลยี โดยวัตถุประสงค์ทางการศึกษา ประกอบด้วย การพัฒนาศักยะภาพและประสบการณ์ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมจริงให้กับบุคคลากรของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญสำหรับการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไปในประเทศ ตลอดจนโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในอนาคต ในส่วนของวัตถุประสงค์ในการสาธิตเทคโนโลยีนั้น พันธะกิจหลักของดาวเทียมแนคแซท คือ (1) พัฒนาระบบสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่วิทยุ (2) ถ่ายภาพจากอวกาศ (3) ทดสอบอัลกอริทึมการควบคุมการทรงตัวของดาวเทียมโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (4) การตรวจสอบเทคโนโลยี deorbit และ (5) ยืนยันการใช้อุปกรณ์ Off-The-Shelf ในอวกาศ โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสามารถและมีเทคโนโลยีในการสร้างดาวเทียมของตัวเอง นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยด้วย

 

แนคแซทเป็นดาวเทียมรูปแบบ 1-Unit CubeSat มีขนาด 10 เซนติเมตร x 10 เซนติเมตร x 11.4 เซนติเมตร และมีน้ำหนัก 1.052 กิโลกรัม ดาวเทียมแนคแซทถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 เวลา 18:34 UTC (ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เวลา 01:34 น. ตามเวลาในประเทศไทย) จากฐานทัพอากาศ Vandenberg ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้มิชชั่น SSO-A ด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 และถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรประเภท Sun-Synchronous Orbit ที่ระดับความสูง 575 กิโลเมตร เมื่อเวลา 22:49:57 UTC (ตรงกับเวลา 05:49:57 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยสัญญาณแรกจากดาวเทียมแนคแซทถูกตรวจจับได้โดยนักวิทยุสมัครเล่นชื่อ Mike Rupprecht (dk3wn) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เวลา 09:04 UTC (ตรงกับเวลา 14:04 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมได้เริ่มทำงานในอวกาศแล้ว

 

สัญญาณจากดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้อีกในวันที่ 5 และ 7 ธ.ค. 2561 โดยนักวิทยุสมัครเล่นชื่อ Fatc Mubin หลังจากนั้น สัญญาณได้ขาดหายไป ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดความเสียหายกับระบบไฟฟ้ากำลังบนตัวดาวเทียม ทั้งนี้ ดาวเทียมยังคงโคจรต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 6 ปี โดยระดับความสูงของวงโคจรจะลดลงอย่างช้าๆ และเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยกาศ ดาวเทียมจะเสียดสีและเผาไหม้จนหมดไปในที่สุด

 

ติดตามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมที่ http://www.knacksat.space/home